ลาน ลูกฆ่าแม่ เมื่อถึงเวลาร่างกายแม่ก็สลายให้ลูกได้เติบใหญ่

ลาน ลูกฆ่าแม่ ลานที่ว่านี้ไม่ใช่ทุ่งสังหารแต่อย่างใด แต่หมายถึงชื่อต้นไม้ประเภทปาล์มชนิดหนึ่ง ที่เรามักรู้จักในนาม ใบลาน นั่นเอง

ลาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha Umbraculifera  L. อยู่ในวงศ์ Arecaceae (Palmae) ชื่อสามัญ Fan Palm , Talipot Palm ถิ่นกำเนิดมีทั้งจากประเทศอินเดีย เป็นชนิด Corypha taliera และไทย คือชนิด Corypha Lecomtei ในไทยนิยมปลูกแถวภาคเหนือ ฉะนั้นคนภาคอื่นแม้จะคุ้นชื่อ แต่ก็ไม่ค่อยได้เห็นต้นนัก

ลักษณะต้นลาน

ลานเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง รูปร่างคล้ายต้นตาล แต่ลำต้นสั้นกว่า ไม่สูงแหงนมองคอตั้งบ่าเหมือนตาล ใบเป็นรูปพัด แกนโค้ง แผ่กว้าง 2 เมตร มีร่องและแยกลึกเป็นแฉกถึง 110 แฉก ว่ามีแฉกใบมากแล้ว ลานยังเป็นพืชที่มีช่อดอกมากที่สุดในโลกอีกด้วย เพราะมีดอกถึง 15 ล้านดอก

ประโยชน์ต้นลาน

อย่างที่บอกข้างต้นเรามักคุ้นชื่อคำว่า ใบลาน อดีตคนไทยนิยมนำใบอ่อนมาจาร หรือจารึกหนังสือพระธรรม คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา หรือตำราต่าง ๆ โดยใช้เหล็กแหลมจารบนใบลานแล้วเคลือบด้วยยางรัก หรือรมด้วยเขม่าควัน เพื่อให้ยางรักหรือควันแทรกเข้าไปในร่องจาร ให้อ่านได้ชัดเจน

นอกจากใช้จารึกคำภีร์แล้วยังนิยมนำมาสานเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น หมวก งอบ พัด เสื่อ เป็นต้น ใช้มุงหลังคาบ้านก็มากเช่นกัน โดยประยชน์ด้านนี้ ใช้ใบลานแก่

นอกจากใบแล้ว ก้านใบ ยังสามารถนำมาทำไม้ขื่อ ไม้แป และจักสานได้ ส่วนลำต้นก็นำมาทำครก สาก เชื้อเพลิง ผลนั้นไซร้นำมาทำแบบลูกชิดหรือหรือจาก อร่อยนัก ส่วนรากของลาน นำมาฝนกินแก้ร้อน ขับเหงื่อ แก้ไข้หวัดดีนักแล

เรียกได้ว่า ลาน มีประโยชน์มากมายเลยเชียว แต่ลูกของมันไม่ค่อยสู้น่ารักนัก เพราะเมื่อมีลูก ต้นแม่จะตายทันที

ลาน ลูกฆ่าแม่

ถ้าเราเริ่มปลูกลาน ตอนอายุ 20 ปี เราจะเห็นดอกของลานเมื่ออายุประมาณ 40 – 50 ปี เพราะลานจะออกดอกก็ต่อเมื่อมันมีอายุ 20 – 30 ปี หรือนานกว่านั้นหน่อยก็ประมาณ 50 ปี

ลานเมื่อให้ผลแล้ว ลำต้นจะตาย เน่าเปื่อย ปล่อยให้ลูกแตกหน่อ แทงยอดเติบโตต่อไป บางลูกก็งอกใต้โคนแม่ บางลูกก็ถูกลม ถูกน้ำพัด พา ไกลออกไป ด้วยเมื่อออกลูกแล้ว ต้นแม่จะตาย ชาวบ้านจึงนิยามชื่อให้ลานว่า ต้นลูกฆ่าแม่ นั่นเอง


ขอบคุณข้อมูล

http://www.rspg.or.th/plants_data/use/palm.htm

https://www.opsmoac.go.th/saraburi-article_prov-files-421591791827

https://medthai.com/ต้นลาน/

https://culture.cmru.ac.th/plantCollection/public

อ่านเรื่องอื่น

www.multitale.com

You may also like...