เจ๊ะแมะ ขนมตายาย ของหวานชายแดนใต้ ของกินแสนธรรมดา ทว่าเลิศรส

ภาพโดย c จาก Pixabay

หากถามว่าชอบขนมอะไรบ้างที่ทำจากมันเทศ หลายคนอาจนึกออกอย่างหลากหลาย ทั้งนึ่ง ต้ม เชื่อม ทอด แต่ถ้าถามชาวบ้านย่านชายแดนใต้ อาจได้คำตอบว่า เจ๊ะแมะ

เจ๊ะแมะ เป็นขนมพื้นถิ่นชายแดนใต้ ที่ได้รับความนิยมมาเนิ่นนาน หากคุณเดินเข้าร้านกาแฟในชุมชน จะพบขนมชนิดนี้วางจำหน่ายอยู่เสมอ เพราะชาวบ้านนิยมกินคู่กับกาแฟ และชาร้อน

กรรมวิธีเสกสร้างขนมเจ๊ะแมะไม่ยุ่งยาก เพียงนำมันเทศมาต้มสุก บดให้เนื้อละเอียด แล้วนำไปผสมกับแป้งสาลี นวดให้เข้ากัน โรยเกลือลงเล็กน้อย แล้วนำมาปั้นให้เป็นก้อนยาวทรงรี พอได้ทรงรีแล้วก็กดให้แบน เพื่อจะได้โรยน้ำตาลทรายลงเป็นไส้ เสร็จแล้วก็ปั้นให้เป็นทรงรีอีกครั้งเพื่อห่อน้ำตาลทรายไว้ หลังจากนั้นนำไปทอดให้เหลืองชวนกิน

ความเด็ดของขนมเจ๊ะแมะอยู่ที่ไส้ ซึ่งก่อนทอดก็เป็นน้ำตาลทรายธรรมดา ๆ แต่เมื่อโดนความร้อนแล้ว น้ำตาลจะละลายเป็นน้ำเชื่อม เมื่อเรากัดเข้าไป ความหวานจะแตกโป๊ะในปาก ด้วยลักษณะเช่นนี้ หลายคนจึงขนานนามให้อีกชื่อว่า “ขนมระเบิด”

ด้วยความเด็ดอยู่ที่ไส้ระเบิดน้ำตาล ฉะนั้นเจ๊ะแมะจึงควรกินตอนร้อน ๆ แต่ต้องเป่าด้วยนะ อย่าให้ร้อนมาก เดี๋ยวจะลวกปากบวมปากพองไป

บทความเรื่อง ขนม”เจะแมะจิ๋ว”ขนมโบราณตายายรายได้งามเจ้าอร่อยนราธิวาส สยามรัฐออนไลน์ บอกถึงความหมายของขนมชนิดนี้ว่า ในภาษามลายู “เจ๊ะ” แปลว่า ตา ส่วน “แมะ” หมายถึง ยาย รวมคำแล้วจึงสื่อถึงขนมที่มาจากตาจากยาย หรือขนมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษนั่นเอง

พอได้อ่านที่มาแล้ว multitale กลับนึกถึงอีกมุมหนึ่ง หรือตอนทำขนมนี้ครั้งแรก เมื่อเสิร์ฟให้คนรอบข้างกิน เขาเห็นรูปร่าง วิธีทำ แล้วอาจอุทานขึ้นว่า “ขนมตายายอะไร” ตายาย ที่สื่อถึง ขนมอะไรเนี่ย อารมณ์ประมาณชาวตะวันตกถามชาวอะบอริจินส์ คนพื้นถิ่นออสเตรเลียว่า เจ้าตัวที่กระโดดดึ๋ง ๆ มากมายอยู่นั่น ชื่ออะไร คนท้องถิ่นก็ตอบว่า “แคงการู” ที่แปลว่า “ฉันไม่เข้าใจ” เพราะฟังภาษาไม่ออก ชาวตะวันตกจึงนำคำว่า แคงการู ไปเรียกจิงโจ้ ตั้งแต่นั้นมา อันนี้ก็เป็นแค่มุมมองชวนขำไปนะ

มีโอกาสแวะชายแดนใต้ หากเห็ขนมรูปร่างหน้าตาอย่างในภาพ แน่นอนมันคือเจ๊ะแมะ ลองซื้อมาชิมดู ขายกันไม่แพง แต่อร่อยนัก หรือหากยังไม่มีโอกาสไปเยือนพื้นที่ก็สามารถทำกินเองที่บ้านได้ เพราะกรรมวิธีไม่ยากนัก แล้วคุณจะติดใจ


อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ของเรา

You may also like...