ปส. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น หวังวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจาก กฎหมายนิวเคลียร์ หลังบังคับใช้มา 7 ปี
ในวันที่ 13 มิถุนายน 2567 นางสาวอัมพิกา อภิชัยบุคคล รองเลขาธิการ ปส. ได้รับมอบหมายจาก
รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการ ปส. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็น เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตาม กฎหมายนิวเคลียร์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ครั้งที่ 1” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคาร 1 ปส. และถ่ายทอดสดผ่าน Fanpage Facebook (Atoms4Peace สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ) โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการ เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย
โดยที่ผ่านมา ปส. ได้บังคับใช้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2562 ดังนั้น เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ปส. มีหน้าที่ประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงาน ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 จึงจัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อพิจารณาและประเมินว่าพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ว่าที่ผ่านมานั้น มีผลใช้บังคับตามวัตถุประสงค์การออกกฎหมายดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร หรือเป็นภาระต่อประชาชนหรือผู้อยู่ใต้บังคับกฎหมายนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด รวมถึงมีความซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกันของกฎหมายอื่นร่วมด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม อาทิ คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์
เพื่อสันติอีกด้วย โดยจะมีการรวบรวมความคิดเห็นดังกล่าวไปปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติฯ และกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต เพื่อพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศ และให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวบรรลุเป้าหมายในการมีกฎหมายเท่าที่จำเป็นแต่ยังคงครอบคลุมและมีความรัดกุมที่มุ่งให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการป้องกันอันตรายจากรังสีต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ปส. มีแผนจัดอีก 4 ครั้ง ในจังหวัดระยอง ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลา เพื่อให้การรับฟัง
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะครั้งนี้ มาจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย หากท่านใดประสงค์เข้าร่วมฟังการเสวนาดังกล่าว สามารถติดตามรายละเอียดได้จากหน้าเว็บไซต์ของหน่วยงาน www.oap.go.th รวมทั้งสามารถร่วม แสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะผ่านระบบออนไลน์ได้ถึง 30 กันยายน 2567
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มกฎหมาย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600
ต่อ 3403 – 3407 กฎหมายนิวเคลียร์