โคกอิฐ โบราณสถานแห่งการข้ามคาบสมุทร จังหวัดนราธิวาส ร่องรอยประวัติศาสตร์ และความศรัทธาที่ไม่เสื่อมคลาย

หมู่ที่ 2 บ้านโคกไผ่ ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นที่ตั้งของโบราณสถาน โคกอิฐ ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 19 ถือเป็นร่องรอยประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของชุมชนโบราณ และเส้นทางการข้ามข้ามสมุทรแหลมมลายูระหว่าง ไทรบุรี-เบตง-ยะรัง นอกจากเป็นโบราณสถานแล้ว ที่แห่งนี้ยังเป็นจุดรวมความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง

ตำนานโคกอิฐ

เดิมชาวบ้านเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “อิฐกอง” เพราะปรากฏแผ่นอิฐขนาดใหญ่วางเกลื่อนกลาด ทั้งนี้เชื่อกันว่า ใต้ดินลึกลงไปมีทรัพย์สมบัติแก้วแหวนเงินทองจำนวนมหาศาลซ่อนอยู่ แต่ถูกป้องกันด้วยมนตราเข้มขลังตามแบบฉบับโบราณจึงไม่มีใครหาเจอ นอกจากนี้โคกอิฐยังมีวิญญาณทวดทั้ง 4 หรือที่ชาวบ้านเรียก “โต๊ะชาย” อารักษ์อยู่ ประกอบด้วย ลุงดำ ลุงอิน ลุงลาย และลุงเพชร โบราณสถานแห่งนี้จึงปกคลุมไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธาเหนือธรรมาติ และความกลัวเกรง แต่ถึงกระนั้น ชาวบ้านเมื่อเดือดเนื้อร้อนใจ หรือต้องการบนบานอะไรบางอย่าง ก็มักมากราบไหว้โต๊ะชายทั้ง 4 เพื่อขอพรอยู่เป็นนิจ

ลุงดำ

หากใครเข้าชมโบราณสถานโคกอิฐเป็นหมู่คณะ เป็นต้องมีใคสักคนในทีมหน้าซีด เหงื่อตก อึดอัด จนไม่อยากอยู่ในบริเวณ บางคนขนลุกชัน ถึงกับเอ่ยว่า “น่ากลัว ที่นี่เหมือนมีวิญญาณ” จริงแล้วบรรยากาศของโคกอิฐก็ชวนให้วังเวงอยู่ไม่น้อย คนที่ขี้กังวลก็อาจเกิดอาการได้ แต่เมื่อได้อ่านป้ายข้อมูลแล้ว จะถึงบางอ้อ เพราะส่วนหนึ่งข้อมูลระบุว่า…

…ความเชื่อของคนทั่ว ๆ ไป เชื่อว่าใต้พื้นดินในบริเวณ “อิฐกอง” ที่ลึกลงไปมีทรัพย์สมบัติซึ่งมีค่ามากมายบรรจุอยู่ในไหโบราณ (ไหคอสวรรค์) และผูกตรึงไว้ด้วยสายยนต์อันหนาแน่นตามพิธีของมอญ คือ ตัดศรีษะคนแล้วผลักศพให้ตกลงไปในหลุม เพื่อเป็นผีเฝ้าทรัพย์ ฉะนั้นเมื่อมีคนขุดพบทไหก็จะเลื่อนไหลไปปเสียที่อื่น…

จากข้อมูลบนป้ายประชาสัมพันธ์ระบุชื่อของผีเฝ้าทรัพย์ทั้ง 4 ว่า ประกอบด้วย ลุงดำ ลุงอิน ลุงลาย และลุงเพชร นั่นเอง

โคกอิฐบนเส้นทางประวัติศาสตร์

จากการสำรวจของกรมศิลปากร ระบุว่าโคกอิฐอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 19 แต่ไม่ได้ต่อเนื่องกัน มีบางช่วงเงียบหายไปบ้าง สรุปเป็นภาษาชาวบ้าน คือ เดี๋ยวก็ร้าง เดี๋ยวก็มีคนมาใช้งาน สลับกันไป เพราะมีโบราณวัตถุต่างยุคต่างสมัยมากมาย เช่น พระพุทธรูปสำริด อิฐจารึหอักษร เครื่องถ้วยจากจีนสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ซ่งใต้ หยวน และชิง เป็นต้น โดยหลักฐานที่ว่า มีดังนี้

มีการนำตัวอย่างอิฐไปตรวจค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน (Thermoluminescence) ที่ Artemis Testing Lab ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีอายุ 1,200 ± 180 และ 1,600 ± 300 ปี มาแล้ว

พบพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์สำริด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 15

ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือนั้นอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17

ส่วนสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 18

อิฐที่ขุดพบ มีจรึกตัวอักษรกวิ (กะวิ) ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18

เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19

เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 24 – 25

นอกจากนี้ยังขุดเจอเสากระโดงเรือ สมอเรือ และเปลือกหอยทะเล จึงเชื่อว่า บริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน

สรุป

ล่าสุดกรมศิลปากรได้ขุดค้นโคกอิฐอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2566 พบเครื่องถ้วยโบราณที่อายุกว่า 700 – 800 ปี แต่ยังต้องศึกษาต่อไป คืบหน้าอย่างไร จะนำมาเขียนบอกเล่ากันต่อในบทความหน้า

อ้างอิง

https://mgronline.com/south/detail/9660000057505

https://www.finearts.go.th/fad11/view/26267-โคกอิฐ


อ่านเรื่องอื่น ๆ

หน้าแรก

ชายแดนใต้ ในสายตาคนพื้นที่… เรื่องเล่า 3: นกเงือก ที่มักสับสนกับทูแคน ทั้ง ๆ ที่เป็นคนละประเภท

ปักษ์ เมื่อ ภาคใต้ เคยมี 15 จังหวัด

Turtle Alley มาเลเซีย ตรอกรัก เต่าทะเล

You may also like...