วัดโบสถ์ อลังการกับหลวงพ่อโต องค์ใหญ่
เสน่ห์ของรูปปั้นขนาดใหญ่ผมว่ามีหลายมิติ หนึ่งละ เมื่อมองใกล้ๆ จะเห็นถึงความอลังการมีบารมี น่านับถือ สอง เมื่อมองไกลๆ จะเห็นถึงความสวยงาม อย่างรูปปั้นหลวงพ่อโสธรจำลอง กับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ขนาดมหึมา ของ วัดโบสถ์ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ที่หากขับรถโดยใช้เส้นถนนกาญจนาภิเษก (ทางหลวงหมายเลข 9) จากบางปะอิน จ.อยุธยา มุ่งหน้า อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ก่อนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทางซ้ายจะเห็นรูปหล่อขนาดใหญ่ของหลวงพ่อทั้งสอง เด่นตระหง่านอยู่ท่ามกลางแมกไม้ และหลังคาโบถส์ โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่เบื้องหน้า ยิ่งมองยิ่งงามจับใจ จนต้องมองหาทางเลี้ยวเข้าไปสักการะทันที
เมื่อไม่กี่วันก่อน ช่วงเย็นๆ หลังฝนตก ขณะขับรถข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยความเคยชินผมจึงหันซ้ายไปมองทางวัดโบสถ์ ทันทีที่หันไป ภาพเบื้องหน้าทำเอาผมถึงกับร้อง โอ้โห! ออกมาทันที เพราะมีรุ้งกินน้ำสีสวยทอดสะพานโค้งสวยงามลงมาระหว่างกลางหลวงพ่อทั้งสองพอดี แวบต่อมา จิตใจผมสั่งการให้กลับรถ แต่เวลาไม่เคยคอยใคร กว่าผมจะขับรถกลับมายังจุดเดิมได้ รุ้งหาย แสงหมด อดถ่ายภาพมาลงเว็บเลย แต่ไม่เป็นไร เขาว่ารุ้งมักเกิดที่เดิม คราวหน้าเอาใหม่ ถ้าเห็นฝนตั้งเค้า ผมจะลองมานั่งคอยดู
ผู้อ่านอาจคิดว่า จุดเด่นของวัดโบสถ์ คือ รูปหล่อจำลองขนาดใหญ่ของหลวงพ่อโสธร กับหลวงพ่อโต จริงๆ แล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัด และคู่บ้านคู่เมืองสามโคก คือ “หลวงพ่อเหลือ” พระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยศิลาทราย ตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมหลวงพ่อเหลือประดิษฐานอยู่บริเวณฐานชุกชีภายในโบสถ์รวมกับพระพุทธรูปอื่นๆ เป็น 12 องค์ สาเหตุที่เรียกว่า หลวงพ่อเหลือ เนื่องมาจาก ราวๆ ปี พ.ศ. 2507 ได้มีโจรเข้ามาลักลอบตัดเศียรพระพุทธรูปภายในโบสถ์ พวกใจบาปตัดเศียรไปขายเกลี้ยง เว้นไว้ 1 องค์ ก็คือ หลวงพ่อเหลือนี่แหละ เดาไม่ยากใช่ไหมครับว่าทำไมจึงมีนามว่า “หลวงพ่อเหลือ” ชาวบ้านเขาตั้งชื่อง่ายๆ ตรงไปตรงมาอย่างนี้แหละ ถึงง่ายแต่ก็บันทึกเรื่องราวได้อย่างพอเพียงเลยเชียว ว่าไหม
สำหรับหลวงพ่อเหลือ ชาวบ้านเชื่อว่า หากมากราบไหว้จะช่วยให้แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุ เภทภัยต่างๆ ก็ดูอย่างองค์หลวงพ่อสิอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้ทั้งๆ ที่โจรมาเยือนอยู่ตรงหน้า ส่วนอีกความเชื่อหนึ่ง คือ ช่วยให้มีเงินมีทองเหลือเก็บ ความเชื่ออย่างหลังนี่ผมว่า ชาวบ้านคงเอามาผนวกรวมทีหลังซะมากกว่า
ตามประวัติ วัดโบถส์ ท่านว่าเดิมชื่อ “วัดสร้อยนางหงษ์” เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เชื่อกันว่าสร้างโดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่จะบอกอีกอย่าง คือ ย่านปทุมธานี โดยเฉพาะ อ.สามโคก นี่ เป็นชุมชนชาวมอญขนาดใหญ่ ดังบทนิราศ ของนายโมรา ทหารกรมมหาดเล็กตลกหลวง ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แต่งขึ้นเมื่อครั้งได้ตามเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน ทางเรือล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อปี พ.ศ. 2426 กล่าวว่า…
“หนึ่งโคกเขตชื่อตั้ง เมืองปทุม
มอญมากกว่าไทยคุม พวกพ้อง
ทำอิฐโอ่งอ่างชุม ตาลดก ดงนา
ยลแต่มอญไม่ต้อง จิตเพ้อเสมอสมร”
ฉะนั้นเมื่อมาวัดโบสถ์แล้ว เราสามารถเที่ยวชมวัฒนธรรมมอญได้ สถานที่แนะนำ คือ “โบราณสถานเตาโอ่งอ่าง” เพราะอดีตชาวมอญ สามโคก มีอาชีพปั้นโอ่ง สถานที่แห่งนี้เป็นเตาเผาโบราณขนาดใหญ่และค่อนข้างสมบูรณ์ ภายในมีภาชนะหินเผา เครื่องถ้วยชาม เศษอิฐมอญ เครื่องถ้วยชามจีน กระจายอยู่ทั่ว
ชื่อสามโคก ก็มาจากการเผาเครื่องปั้นนี่แหละ เพราะมาจากเนินซากเตาเผาสมัยโบราณ 3 เนิน หรือ 3 โคกนั่นเอง
นอกจากวัฒนธรรมชาวมอญแล้ว วัดโบสถ์อยู่ไม่ไกล ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร สามารถแวะไปอุดหนุนสินค้าสวยๆ ได้
สำหรับผม เคยไปวัดโบสถ์ 2 ครั้ง ครั้งแรกผมถ่ายหลวงพ่อโต แล้วนำภาพไปลงขายในเว็บขายภาพ ปรากฏว่าขายได้ด้วยแหละ เป็นภาพแรกของผมเลยที่ขายได้
นอกจากหลวงพ่อเหลือ กับ 2 หลวงพ่อขนาดใหญ่แล้ว ยังมีรูปปั้นหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ประดิษฐานอยู่ด้วย
ที่วัดโบสถ์ไม่เพียงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะบูชาเท่านั้น ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย คือ มีร้านค้าให้แวะช้อป ข้างๆ วัดก็มีจุดให้อาหารปลา ปลา เป็นปลาสวาย และปลาตะเพียน เลี้ยงริมแม่น้ำเจ้าพระยาเลย โยนอาหารลงไปที ลอยหัวมาอ้าปากกลืนกันเต็มผิวน้ำ ก็เพลินดีเหมือนกัน วิวริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็สวยไม่หยอก ลมก็เย็นสบาย
ขอแนะนำว่า ใครที่ให้อาหารปลาแล้ว เกิดอารมณ์บาป อยากจะจับปลา เก็บความอยากไว้ แล้วขับรถเลาะริมแม่น้ำขึ้นไปไม่ไกล แถวๆ นั้นมีแพให้บริการ สามารถเช่าค้างคืน ตกปลา ได้ แพเป็นแพผูกติดไว้ ไม่ได้ล่องไปตามลำน้ำนะครับ เพื่อนผมเคยไปใช้บริการ 2 – 3 ครั้ง ทุกครั้งกลับมากลิ่นละมุดคลุ้ง พอถามว่าปลากินดีไหม เขาตอบว่า ปลากินดีไหมไม่รู้ แต่กูเนี่ยกินดี
“กินปลาเหรอ?” ผมถาม
“กินเหล้า!”