พลู ใบไม้ที่เป็นมากกว่าเครื่องเคียงกินหมาก

พลู เมื่อเอ่ยชื่อนี้หลายคนคงนึกถึงใบไม้ที่กินคู่กับหมากเป็นอย่างแรก (ส่วนชะพลูนั่นกินกับเมี่ยง) คนไทยเราคุ้นเคยกับใบพลูมาตั้งแต่เกิด เพราะแม้ปู่ย่าตายายไม่กินหมาก เราก็มักเห็นพลูในพิธีกรรมทางศาสนาอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากเจ้าพืชชนิดนี้มีความเป็นมงคลนั่นเอง โดยเฉพาะชาวมลายู หรือใต้ตอนล่าง ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เวลามีงานมงคลต่าง ๆ จะนำใบพลูนี่แหละมาทำเป็นบายศรี เมื่อเอ่ยถึงบายศรีอาจเกิดข้อสงสัยใส เอ้ย! ชาวใต้ตอนล่างทำบายศรีกันด้วยรึ คำตอบอยู่ย่อหน้าต่อไป

บายศรีใบพลู

ถ้าเอ่ยถึงบายศรี ภาพใบตอง หรือใบกล้วยย่อมลอยมา เพราะภาพชินตาเราจะพบว่า ช่างนำใบตองมาพับเป็นทรงกรวย หรือสามเหลี่ยม ประดับเป็นพานพุ่ม แต่สำหรับชาวมลายูบายศรีนั้นนิยมใช้ใบพลูแทน เนื่องจากถือเป็นใบไม้มงคล

สมาน โดซอมิ ปราชญ์ด้านวัฒนธรรมมลายู ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา อธิบายความสำคัญของใบพลูกับผู้เขียนว่า ภาษามลายู เรียกใบพลูว่า ‘ซีเร๊ะ’ หรือ ‘ซือรี’ หากเทียบกับภาษาบาลี ก็คือ ‘สิริ’ หรือ ‘ศรี’ ซึ่งภาษาไทยใช้ในความหมาย ความรุ่งเรือง ความสว่างสุกใส ความงาม สาเหตุที่นำไปเทียบกับภาษาบาลี นั่นเพราะรากวัฒนธรรมด้านนี้มาจากอินเดีย ก่อนจะนับถือศาสนาอิสลาม ชาวมลายูอิสลามก็เคยนับถือพราห์ม และพุทธมาก่อน ฉะนั้นจึงหลงเหลือขนบธรรมเนียมบรรพบุรุษอยู่ เมื่อซีเร๊ะ คือ ศรี จึงบอกบอกได้ว่า ชาวมลายูยกให้ใบพลูเป็นไม้มงคล และเมื่อคำว่าซีเร๊ะ ก็ตรงกับคำว่า บายศรี ทั้งนี้ที่ยกให้พลูเป็นไม้มงคล ไม่ใช่เพราะแค่ทำบายศรีเท่านั้น แต่มันกินได้ เป็นยาได้ ซ้ำรูปทรงก็สวยงาม จึงครบถ้วนด้านมงคล

บายศรี ในภาษามลายู เรียกว่า ‘บุหงาซีเร๊ะ’ บุหงา แปลว่า ดอกไม้ บุหงาซีเร๊ะมักปรากฏในงานมงคลทุกอย่าง เช่น งานแต่ง งานเข้าพิธีสุหนัต ฯลฯ

ประเภทของบุหงาซีเร๊ะ

บายศรี คือ การจำลองเขาพระสุเมรุ บุหงาซีเร๊ะ ก็สื่อในความเหมายนี้ ต้องอธิบายตรงนี้หน่อย เนื่องจากหลักศาสนาอิสลามไม่มีการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ด้วยสิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมที่มีมาก่อนชาวบ้านจะรับอิสลาม ดังนั้นรูปร่างบายศรีของพี่น้องมุสลิมจึงแตกต่างจากภาคอื่น แล้วก็เน้นไปทางส่วนประกอบงานมากกว่าเป็นสิ่งนอบน้อมเทพบนเขาพระสุเมรุ

บุหงาซีเร๊ะนั้นนิยมทำเป็นชั้น และเป็นเลขคี่ เช่น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น เป็นต้น และแต่ละชั้นก็มีความหมายต่างกัน ดังนี้

3 ชั้น

บุหงาซีเร๊ะขนาด 3 ชั้น ใช้ในงานมงคลของชาวบ้านทั่วไป

5 ชั้น

บุหงาซีเร๊ะขนาด 5 ชั้น งานระดับใช้แห่แหน ต้อนรับแขกบ้านแขกเรือน

7 ชั้น

บุหงาซีเร๊ะขนาด 7 ชั้น ใช้ในงานแห่ระดับงานมหกรรม

9 ชั้น

บุหงาซีเร๊ะขนาด 9 ชั้น สำหรับเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริ์

ประโยชน์ทางยา

ก่อนหน้านี้บอกว่า ใบพลู เป็นยาได้ สรรพคุณทางยาของมัน มีดังนี้

  • รักษาอาการคัน แก้ลมพิษ
  • กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต
  • ยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรค และแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรค
  • ต้านเชื้อรา ต้นตอของกลาก เกลื้อน

พลู จึงเป็นใบไม้ที่มีค่ามากกว่าเครื่องเคียงกินหมากด้วยประการฉะนี้

อ้างอิง

บายศรี ภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์จากความเชื่อและศรัทธา
ข้อมูลพืชสมุนไพร
wikipedia
พลู งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ
บายศรีภาคใต้
บุหงาซีเร๊ะ (พานบายศรี)


อ่านเรื่องอื่น ๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลั่นแกล้ง

You may also like...