หอยแอเตาะ มรดกภูมิปัญญาอาหาร มลายู
หอยแอเตาะ เป็นชื่อเรียกหอยทรายน้ำจืดที่มีมากในแม่น้ำของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาอาหารของชาวมลายูเลยก็ว่าได้ เพราะหากข้ามเขตแดนไปประเทศมาเลเซีย เราก็จะเห็นแอเตาะวางขายตามลาดนัดทั่วไป
หอยแอเตาะ ถือเป็นของกินเล่นอันดับต้น ๆ ของชายแดนใต้ แต่ไม่เหมาะกับผู้ที่ธาตุท้องไม่ดีเท่าไหร่ เพราะจะจู้ดๆ ได้ ก็การแปรรูปหอยแอเตาะ ทำโดย นำมาคลุกเกลือ ขมิ้น ตะไคร้ ข่า แล้วรมควัน และระอุความร้อน เนื้อภายในจึงยังฉ่ำ ๆ แต่หลายครั้งซื้อมาจากร้านที่ไม่ใส่ใจคุณภาพนัก ก็จะเจอหอยเนื้อแห้งกรัง หรือไม่ก็ตัวเล็กจนแทบไม่เห็นเนื้อ
ด้วยเพราะเสี่ยงต่ออาการแพ้อาหาร ท้องเสีย ผู้ปกครองจึงไม่ค่อยอยากให้เด็กกินนัก ทั้ง ๆ ที่รสชาติถูกปาก ฉะนั้นเมื่อปี 2565 คณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี จึงได้ทำงานวิจัย “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และทดสอบตลาดของธุรกิจหอย “แอเตาะ” มรดกภูมิปัญญาอาหาร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจให้แก่สตรีมุสลิมใน อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี” ขึ้น ซึ่งรูปแบบสวยงามน่ารรับประทานเป็นอย่างยิ่ง
แอเตาะ จริงแล้วเป็นชื่อเรียกในภาษามลายู ผู้เขียนเองแม้ภูมิลำเนาอยู่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เคยร่วมก๊วนเพื่อนฝูงไปคุ้ยหอยชนิดนี้ยังแม่น้ำสุไหงโก-ลก แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่า ภาษาไทยกลางเรียกอะไร ลองเทียบภาพแล้ว เหมือนหอยตาควายไม่น้อย แต่เรียกหอยทรายไว้ก่อน น่าจะเข้าเค้าดี
ที่เรียกหอยทราย เพราะภูมิภาคอื่น ๆ เขาเรียกกันอย่างนี้ แล้วก็นิยมนำมาปรุงรสตากกินคล้ายแอเตาะ เช่น ที่ ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ก็นิยมคุ้ยหอยทรายมาปรุงรส แล้วตากแห้งจำหน่าย
ส่วนที่ จ.บึงกาฬ ติดแม่น้ำโขง ก็นิยมหาหอยทรายมากิน ต่างกันที่ทางนั้นไม่ได้นำมาตาก แต่ทำเมนูผัดกับโหระพา คล้ายผัดหอยลาย หอยแอเตาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แม้จะมีให้ซื้ออยู่ แต่ก็ถือว่าหารับประทานยากแล้ว ไม่เหมือนอดีตที่เข้าตลาดไหน ก็มีให้กินเสมอ ฉะนั้นเจ้าที่ยังทำขายกันอยู่ ก็จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่าตลอด