หลุมพี เมื่อฉันหลงรักความเปรี้ยวชายแดนใต้
หลุมพี ภาษามลายูว่า เว๊าะกลูบี คือ ผลไม้ท้องถิ่นของชายแดนภาคใต้ เป็นพืชตระกูลปาล์ม ที่ชอบพื้นที่น้ำขัง หรือป่าพรุ ฉะนั้นชาวบ้านจังหวัดนราธิวาสอันเป็นที่ตั้งป่าพรุโต๊ะแดง จึงมักคุ้นเป็นอย่างดี ความโดดเด่นของหลุมพีอยู่ที่รส เปรี้ยวจี๊ด เปรี้ยวเข็ดฟัน ใครเมา ๆ ง่วง ๆ กัดเข้าคำหนึ่ง เป็นตื่น ใครเคยกิน แค่เอ่ยชื่อนี้ น้ำลายก็แตกฟองแล้ว หากเพื่อนที่อ่านเรื่องเล่านี้ เป็นคนพื้นเพอื่น ขอเทียบระดับความเปรี้ยวว่า เปรี้ยวกว่า บักค้อ เหนือกว่ามะม่วงเบา ส่วนมะนาว จืดไปเลยเมื่อเทียบกับมัน
หลุมพีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eleiodoxa conferta (Griff.) Burr. กระจายอยู่ทั่วชายแดนไทย-มาเลเซีย หมู่เกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา
แปรรูป
ถ้าไม่แพ้ท้อง เชื่อเลยว่า น้อยคนจะยัดลูกหลุมพีเข้าปากแล้วเคี้ยวหยับ ๆ ได้อย่างเปรมปรีดิ์เนื่องจากมันเปรี้ยวมาก ก.ไก่ ล้านตัว ส่วนน้อยจริง ๆ ที่จะกินเพียว โดยมาก นำมาหั่นใส่น้ำจิ้ม ซึ่งน้ำจิ้มทำจาก น้ำบูดูผสมน้ำตาลทราย โรยพริกสดทุบหรือซอย เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด คุณเอ๋ย ได้ลองแล้วจะติดใจ ทั้งนี้หากไม่นิยมบูดู เปลี่ยนเป็นน้ำปลาก็ได้
ข้างต้นเป็นวิธีกินหลุมพีสดแบบได้อรรถรส หรือใครอยากกินจิ้มเกลือก็ได้ ไม่ห้าม นอกจากกินสด ยังนิยมนำมาดองเกลือ และแช่อิ่ม สองวิธีแปรรูปนี้ อร่อยไม่หยอก หลุมพีดอง ถ้าใช้ผลอ่อน ที่เมล็ดในยังไม่แข็ง สามารถเคี้ยวได้กรุบกรอบ เพลินนัก
ที่ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ได้ข่าวว่า มีเกษตรปลูก หลุมพี ขายเป็นล่ำเป็นสัน โดยการนำผลมาเชื่อม ขายดีไม่หยอก
นอกจากนำมากินเป็นของว่างแล้ว หลุมพียังสามารถมาปรุงอาหารได้ โดยใช้เป็นวัตถุดิบให้ความเปรี้ยว เช่น ทำแกงส้ม ทำต้มส้ม ทำน้ำพริก เป็นต้น
อนาคต
ข้างต้นบอกว่า ชาวชายแดนใต้รู้จักหลุมพี เป็นอย่างดี นั่นหมายถึงกลุ่มวัยก่อน 90 เป็นส่วนใหญ่ เพาะคนรุ่นใหม่ถัดจากนี้ มักไม่ค่อยรู้จักแล้ว เนื่องจากไปเรียนนอกพื้นที่บ้าง มีผลไม้รสหวานอื่น ๆ ให้เลือกบ้าง พ่อค้าที่แปรรูปหลุมพีก็มีน้อยลง แต่ถึงอย่างไร ก็เชื่อว่า หากใครได้ลองลิ้มแล้ว จะไม่ลืมหลุมพีแน่นอน แหม่! ก็เปรี้ยวซะขนาดนั้น
อ้างอิง
เกษตรกรหัวใสแปรรูป “หลุมพีเชื่อม” ขายผ่านออนไลน์สร้างรายได้งาม