อีแร้ง เมื่อหัวล้าน ๆ ช่วยให้มีชีวิตรอด
เมื่อพูดถึง อีแร้ง อันดับแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึง คือ ความอัปมงคล ก็แหงละ มันกินซากศพ ตะกละตะกลาม รูปร่างน่าเกลียด หัวล้าน ซ้ำบางความเชื่อก็มองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความตายอย่างเดียวกับนกแสกเสียอีก แร้งจึงถูกนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งไม่ดีเสมอ เช่น เปรียบกลุ่มคนที่รุมแย่งชิงสิ่งของหรือตะกละ เหมือน ‘แร้งทึ้ง’ หรือถูกนำไปเรียกเป็นประเภทหัวล้าน เช่น ล้านแร้งกระพือปีก เป็นต้น ทั้งนี้ในความอัปลักษณ์นั้น ล้วนเป็นข้อดีของมัน

หัวโล้น ๆ ช่วยรอดชีวิต
เพราะแร้งกินซากสัตว์เป็นอาหาร ฉะนั้นหัวล้านจึงมีประโยชน์กับมัน เนื่องจากซากสัตว์เน่า มีเชื้อโรค มีแบคทีเรีย เมื่อพวกมันไม่มีขนบนหัว ก็ลดความเสี่ยงที่เศษเนื้อ หรือเชื้อโรคจะติดที่หัว แล้วลามเข้าอวัยวะภายในกลายเป็นติดเชื้อในกระแสเลือด
เรื่องการป้องกันเชื้อโรคนั้น หัวล้านเป็นเพียงประการหนึ่ง อีกคุณสมบัติพิเศษคือ น้ำย่อยของมันมีความเป็นหรกสูงมาก ๆ ซ้ำยังมีโปรโตซัวที่แข็งแรง ชนิดที่ย่อยโลหะได้สบาย เชื้อโรค แบคทีเรียจากซากสัตว์ เมื่อลงสู่ท้องจึงตายแบบแทบยังไม่ทันเอ่ยปาก ร้องขอชีวิต
ทั้งนี้ถึงน้ำย่อยของแร้งจะพิเศษมาก แต่ก็ยังพ่ายแก้ให้กับยาวิทยาศาสตร์ เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2535 ณ ป่าห้วยขาแข้ง พญาแร้งฝูงหนึ่งต้องตายยกฝูง ชนิดเกือบสูญพันธุ์ นักอนุรักษ์ต้องเร่งฟื้นฟู เพราะไปกินซากเก้งที่พรานวางยาเบื่อไว้ เพราะหวังจะล่าเสือโคร่ง นั่นเอง

ความอดทนเป็นเลิศ
แม้กินเนื้อ และมีรูปร่างใหญ่ แต่สรีระของอีแร้งไม่เหมาะต่อการล่า มันจึงเลือกวิธีกินซากสัตว์แทน โดยการรอให้สัตว์ตายเอง หรือรอให้นักล่าอื่น อย่างเสือ สิงโต กินอิ่มทิ้งเหยื่อ แล้วค่อยลงทึ้ง ฉะนั้นพวกมันจึงมีความอดทนสูงมาก
อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มีความเชื่อเกี่ยวกับ อีแร้ง โดยเชื่อว่า เดิมแก่งคอย ชื่อ “แร้งคอย” เนื่องจากบริเวณนี้เป็นปากทางเข้าเขาใหญ่ นักเดินทางป่วยตายด้วยไข้ป่ามาก จึงมีแร้งมาคอยกินซากศพมากเช่นกัน
นอกจากแก่งคอยแล้ว แร้งยังมีชื่อเสียง ณ วัดสระเกศ กรงเทพมหานครด้วย จึงมีคำเรียกว่า “ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” สาเหตุที่ยกแร้งให้วัดสระเกศ เพราะครั้งที่เกิดโรคระบาด ที่ชาวบ้านเรียก ‘โรคห่า’ ผู้คนล้มตายจำนวนมาก ศพต้องขนไปเผาที่วัดสระเกศที่อยู่นอกกำแพงเมือง ศพมีเรือนหมื่น เผาไม่ทัน ฝูงแร้งจึงลงมากินซากศพอย่างสำราญ

ตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า
แร้งเปรียบเหมือนเทศบาลแห่งป่า การกินซากสัตว์ของมัน ช่วยให้ห่วงโซ่อาหารหมุนเวียน คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าใดมีแร้ง แสดงว่ามีซากสัตว์ และมีสัตว์นักล่า แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของผืนป่า
อ้างอิง
ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์
พาพญาแร้งที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติกลับคืนป่าเมืองไทย
เคยสงสัยกันไหม? ทำไม ‘แร้ง’ ถึงหัวโล้น