ปักษ์ เมื่อ ภาคใต้ เคยมี 15 จังหวัด

สงสัยไหมทำไม เรียก ภาคใต้ เป็น ปักษ์ใต้ แล้วปักษ์หมายถึง 15 ไม่ใช่หรือ? สังเกตจากนิตยสารรายปักษ์ ออกทุก 15 วัน ไหงทักษิณภาคมีเพียง 14 จังหวัด จริงแล้วหากเปิดพจนานุกรม จะพบนิยามศัพท์ ปักษ, ปักษ์ ว่า น.ฝ่าย, ข้าง, เช่น ปักษ์ใต้, กึ่งของเดือนจันทรคติ คือ เดือนหนึ่งมี 2 ปักษ์ ข้างขึ้นเรียกศุกลปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายขาว หมายเอาแสงเดือนสว่าง) ข้างแรมเรียก กาฬปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายดำ หมายเอาเดือนมืด), ครึ่งเดือน เช่น หนังสือรายปักษ์.

ปากน้ำกันตัง

ปักษ์ใต้ อาจไม่เกี่ยวกับจำนวน

จากความหมายของ ปักษ์ ในพจนานุกรม ปักษ์ใต้จึงอาจไม่เกี่ยวกับตัวเลข แต่หมายถึงหัวเมืองทางใต้ของเมืองหลวงนั่นเอง ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา อนุสรณ์งานบรรจุศพ นายไต้ล้ง พรประภา พ.ศ. 2511 หน้า 545 กล่าวถึงหัวเมืองทางใต้ว่า ‘ปากใต้’ ทั้งนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กล่าวในบทความ ‘ปักษ์ใต้สมัยอยุธยา เริ่มจากเขต จ. ประจวบคีรีขันธ์’ ว่า ในเอกสารเก่าหัวเมืองปากใต้ หมายถึง หัวเมืองที่อยู่ทางใต้ของรัฐอยุธยารอบปากอ่าวไทย (ไม่ใช่ปักษ์ใต้ที่อยู่ภาคใต้) แต่ถึงอย่างไรแล้วก็สอดคล้องกับความหมายที่ว่า เป็นเมืองตอนใต้

ตะกั่วป่า

จากคำว่าปากใต้ ผู้เขียนได้อ่านบทความชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าอยู่ในหนังสือชื่ออะไร เรื่องว่าด้วยการเรียกเมืองที่ติดแม่น้าว่า ปาก ซึ่งภาคใต้มีปากอ่าวมากมาย ทางกรุงเทพฯ จึงเรียกเหมาเป็น ปากใต้ กระทั่งเพี้ยนตามสำเนียงคนภาคใต้ เป็น ปักษ์ใต้ ในที่สุด

หากค้นความหมายในพจนานุกรม ก็จะพบนิยามคำศัพท์ของ ปากใต้ ว่า น.ปักษ์ใต้, ฝ่ายใต้. ฉะนั้นจึงพอสรุปได้ว่า ปักษ์ใต้อาจไม่ได้อิงกับจำนวน

เหมืองแร่เก่า

หนังสือ “ภาษาคาใจ” ของสังคีต จันทนะโพธิ ได้ให้ข้อเสนอแนะในบทที่ชื่อ “ปักษ์ใต้” มาจากไหน ? ว่า… สำหรับคำว่า ปักษ์ใต้ ท่านผู้อ่านมีเพื่อนเป็นคนใต้ ลองให้เค้าพูดคำว่า “ภาคใต้” ให้ฟังสัก ๒-๓ ครั้งก็จะได้ยินว่า “ปักษ์ใต้” มาจาก “ภาคใต้” นั่นเอง…

สะพานสารสิน

ภาคใต้เคยมี 15 จังหวัด

ภาคใต้ เคยมี 15 จังหวัด และจังหวัดที่หายไป คือ จังหวัดสายบุรี ต้นสายปลายเหตุมีดังนี้

อย่างที่ทราบกันดีว่า ก่อนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็น ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เคยถูกปกครองแบบเทศาภิบาล 7 หัวเมืองมาก่อน นั่นคือ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี เมืองระแงะ เมืองรามันห์ และเมืองยะลา

ชายฝั่งสายบุรี

หลังจากนั้น พ.ศ. 2449 ได้ยุบ 7 หัวเมือง เหลือ 4 เมือง ประกอบด้วย เมืองปัตตานี เมืองยะลา เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ กระทั่ง พ.ศ. 2459 ก็ได้ยกเลิกการใช้ “เมือง” มาเป็น “จังหวัด” ฉะนั้นทั้ง 4 เมือง จึงเป็นจังหวัด ดังนี้ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสายบุรี ส่วนระแงะนั้น เปลี่ยนชื่อเป็น จังหวัดนราธิวาส พ.ศ. 2474 ได้ยกเลิกจังหวัดสายบุรี โดยส่วนหนึ่งให้ขึ้นกับปัตตานี อีกส่วนขึ้นกับนราธิวาส ฉะนั้นจังหวัดสายบุรี จึงกลายเป็นอำเภอ จนถึงทุกวันนี้ รวมเวลาเป็นจังหวัดของสายบุรี ประมาณ 15 ปี

ตัวเมืองพังงา

อ้างอิง

ประวัติศาสตร์ปัตตานี สมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง ศาสตราจารย์ ดร.ครองชัย หัตถา

พจนานุกรมออนไลน์


หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลั่นแกล้ง

You may also like...