ปลาหมอคางดำ VS ปลาหมอไทย เมื่อต่างก็มีปากที่โดดเด่น

คนไทยคุ้นเคยกับปลาหมอเป็นอย่างดี เพราะเป็นปลาที่อาศัยในแหล่งน้ำจืดทั่วไป ทั้งจีนตอนใต้ อินโดจีน ไทย อินเดีย ศรีลังกา ฟิลิบปินส์ และออสเตรเลีย เรียกว่า เป็นปลาท้องถิ่นนั่นแหละ ส่วน ปลาหมอคางดำ เดิมอาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก กระทั่ง พ.ศ. 2567 มันมาระบาดหนักในฐานะปลา เอเลี่ยนสปีชีส์ เพราะไม่มีถิ่นกำเนิดในไทย ถือเป็นปลารุกราน และนิสัยดุร้าย กินจุของมัน ก็ทำลายระบบนิเวศไทยอย่างสูง นี่แหละ

ปลาหมอคางดำมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศในแถบแอฟริกา ลักษณะของมันคล้ายปลานิล เนื้อก็คล้าย จึงถูกนำเข้ามาพัฒนาสายพันธุ์ นอกจากกินได้ เจ้าปลาหมอสายพันธุ์นี้ยังถูกเลี้ยงในฐานะปลาสวยงาม ที่รู้จักกันในนาม ปลาหมอสี อีกด้วย

ขนาดของปลาหมอคางดำ ตัวเต็มวัยมีขนาดยาว 20 เซ็นติเมตร ถือว่าใหญ่เอาการ ลองนึกถึงปลาหมอไทย ๆ เราสิ เท่าที่เห็น ผู้อ่านพบขนาดเท่าไหร่บ้าง สำหรับผู้เขียนแล้ว ไม่เคยเจอตัวใหญ่กว่าฝ่ามือเลย ข้อมูลจากกรมประมงบอกว่า ขนาดของปลาหมอไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 10.0-16.0 เซนติเมตร แต่เคยมีผู้พบตัวขนาดความยาวสูงสุด 23 เซ็นติเมตรเหมือนกัน

ปลาหมอ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anabas testudineus ส่วนชื่อสามัญ คือ Climbing perch, Walking fish มีคำว่า Walking ที่แปลว่า เดิน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งก็ตรงตัว หากใครเคยเห็นปลาหมอในบึงแห้ง หรือซื้อตัวเป็น ๆ มาแล้วทำหล่น จะพบว่า มันเดินได้ โดยใช้เหงือกแถกไปเรื่อย ๆ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “ปลาหมอแถกเหงือก” เป็นคำเปรียบเทียบที่พจนานุกรมนิยามคำศัพท์ว่า ก.กระเสือกกระสนดิ้นรน

ปลาหมอ ถือเป็นปลาที่อดทน อยู่บนบกนาน ๆ ก็ทนได้ และเป็นปลาที่ถูกคนไทยนำนิสัยมาสอนลูกสอนหลานผ่านนิทาน คำเปรียบเปรย อยู่เสมอ เช่น ความอดทน และความปากพล่อย เขียนถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงอ๋ออออออ กันแล้ว “ปลาหมอตายเพราะปาก” นั่นเอง

โดย Xufancงานของตัว, CC BY-SA 4.0, ลิงก์

ปากโดดเด่น ที่แตกต่าง

กลับมาที่ ปลาหมอคางดำ เจ้านี้ก็มีปากที่โดดเด่นเช่นกัน คือ ตัวผู้จะรับหน้าที่ฟักไข่แทนตัวเมีย โดยเมื่อตัวเมียวางไข่ มันก็จะไปอมไว้เพื่อป้องกันอันตราย อมอย่างนั้นจนกว่าลูกปลาจะออกจากไข่ ซึ่งใช้เวลา 2 – 3 สัปดาห์ อมโดยไม่อ้าปากกินอะไรเลย เมื่อคายลูกแล้ว ก็จะไปอมไข่ของตัวเมียตัวอื่นอีก วนอยู่อย่างนี้ ปลาหมอคางดำจึงเนื้อน้อยเพราะไม่ค่อยกิน ที่กล่าวว่าไม่ค่อยกินอาหารนั่นแค่ตัวผู้ แต่มันก็กิน กินล้างผลาญด้วย ก็พอมันคายไข่ออก ก็ใช่ว่าจะเจอไข่กลุ่มใหม่ทันที ช่วงเวลานี้ก็กินก่อนให้สาแก่การอดมานานนั่นเอง

ด้านปาก ของปลาหมอไทย ดูแล้วจะไม่ค่อยไปทางที่ดีนัก เพราะมันตายเพราะปาก สาเหตุที่เปรียบอย่างนี้ เนื่องจาก ปลาหมอชอบผุดขึ้นมาที่ผิวน้ำ แล้วทำปากผุบ ๆ พรานปลาจึงสังเกตได้ง่าย หย่อนเบ็ด หรือหว่านแห ลงไป ก็ได้มันมากินแน่นอน รสเนื้อของปลาหมอไทยนั้น ตองยกนิ้วให้ทุกเมนู เนื้อแน่น ๆ มัน ๆ แกงส้ม แกงป่า หรือแม้แต่ตากแดดเดียวทอด ก็อร่อย โยนเข้ากองไฟทั้งเกร็ดแล้วนำมาแกะกิน ยังเอมใจ

โดย Sahat Ratmuangkhwang – FishBase, CC BY 3.0, ลิงก์

นิทานจากปาก

มีนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับปลาหมอหลายเรื่อง เช่น…

เรื่อง ตายเพราะปาก นิทานพื้นบ้าน จากฐานข้อมูลนิทานพื้นบ้านล้านนา มหาวิทยาเชียงใหม่ เล่าว่า… มีชายขี้เหล้าคนหนึ่ง ตายไป เมียเป็นห่วงจึงวางขวดเหล้าไว้ในโลงให้ด้วย วิญญาณก็หนีบขวดเหล้าตรงรักแร้ไปพบยมบาลด้วย ท่านยมถามว่าน้ำอะไร ชายขี้เมาบอกว่า น้ำทิพย์ ยมบาลขอชิม ปรากฏว่าเมา แก้วันตายให้ชายขี้เมาผิด และยอมให้ชายขี้เมาฟื้น เพื่อไปร่วมงานบวชลูกชาย ปรากฎว่า พอขึ้นไปบนโลกมนุษย์แล้ว ชายขี้เมาไม่ยอมตาย ผ่านไปหลายร้อยปีก็ยังไม่ตาย ยมบาลเปลี่ยนคนแล้ว (ยมบาล คือ ตำแหน่ง จะเปลี่ยนคนอื่นมาทำหน้าที่เป็นวาระไป) ชายขี้เมาก็ยังไม่ตาย กระทั่งยมบาลคนใหม่มาสะสางรายนาม ก็พบข้อผิดพลาด จึงส่งยมฑูตไปลากตัวกลับ ยมฑูตไป ก็ไม่รู้จัก ไม่รู้คนไหน จึงคิดอุบาย แปลงกายเป็นมนุษย์นำถ่านมาขัดอยู่ริมแม่น้ำ ชายขี้เมามาเห็นเข้า ก็หัวเราะใส่ หาว่ายมฑูตแปลงทำตัวประหลาด “ข้าฯ อยู่มา 400 ปีแล้ว ยังไม่เคยเห็นใครเอาถ่านมาขัดให้ขาว”

อ่านฉบับเต็มได้ที่ ลิงก์นี้

นิทานเกี่ยวกับปากของปลาหมอมีอีกมาก หากนำมาเล่าเนื้อหาคงยาวเหยียด ละไว้แค่นี้ก่อนละกัน

โดย Sahat Ratmuangkhwang – FishBase, CC BY 3.0, ลิงก์

และนี่ คือ ความโดดเด่นของปลาหมอ ที่ต่างที่มา ซึ่งนำมาเล่าพอเป็นเกล็ดความรู้เล็ก ๆ ท่านใดมีข้อแนะนำ หรือติเตือนประการใด เชิญคอมเม้นต์ได้เลยนะครับ ขอบคุณครับ

อ้างอิง

เข้าใจใหม่! ปลากะพงขาวใช้กินลูก ไม่ได้กินปลาหมอคางดำตัวใหญ่

กรมประมง


อ่านเรื่องอื่น ๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลั่นแกล้ง

You may also like...