3 หมอ เอเลี่ยนสปีชี่ส์ กับคิดก่อนปล่อยสัตว์น้ำ เพราะนั่นอาจเป็นการทำลายประเทศ

ปลาหมอคางดำ ทำให้คำว่า เอเลี่ยนสปีชี่ส์ เข้ามาอยู่ในความสนใจของใครหลายคน จริง ๆ แล้วมีข่าวเกี่ยวกับพืช เกี่ยวกับสัตว์ต่างถิ่น เข้ามารุกรานอยู่เสมอ เช่น บัวตอง, ไมยราบ, ปลาซักเกอร์ เป็นต้น ความหมายของ Alien Species คือ สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น เช่น สัตว์ หรือพืช ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศ หรือทวีปอื่น แล้วเข้ามาอยู่ในประเทศเรา จะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ โดยข้อเสียของเอลี่ยนพวกนี้ คือ มันจะทำลายระบบนิเวศเดิม เช่น ปลาก็กินลูกปลาพื้นเมืองจนสูญพันธ์ พืชก็แย่งอาณาเขตของพันธุ์เดิมจนสูญสิ้น พูดให้เห็นภาพ ก็ประมาณ เอเลี่ยนจากต่างดาวมายึดโลกเรานั่นแหละ

3 หมอ ปลาเอเลี่ยนสปีชี่ส์

ปลาหมอคางดำ นับเป็นที่หวาดวิตกในขณะนี้ เพราะพวกแพร่พันธุ์โหดมาก นอกจากเร็ว และกินดะแล้ว ยังอยู่ในน้ำเค็มได้อีกด้วย (ไม่รู้ตายอดตายอยากมาจากไหน) ยังมีอีก 2 หมอ ที่ห้ามนำเข้าประเทศ ได้แก่

By Gaddy1975 at en.wikipedia, CC BY 2.5, Link

ปลาหมอมายัน (Mayan cichlid)

ลักษณะเด่นของปลาหมอมายัน บนตัวมีแถบดำ 7 แถบ ที่คอดหางมีจุดดำ นิสัยดุร้าย ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ดี มีถิ่นกำเนิดที่ เม็กซิโก, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส และนิการากัว พบในไทยครั้งแรก พ.ศ. 2548 แถวคลองที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตบางขุนเทียน

By Kai Squireshttps://www.inaturalist.org/photos/61728832, CC BY 4.0, Link

ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra cichlid)

ปลาหมอบัตเตอร์ รายนี้มีแถบดำที่ลำตัว 5 แถบ กินทั้งพืชและเนื้อ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้สูง มีถิ่นกำเนิดที่ ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ประเทศกินี-บิสเซา สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน และประเทศไลบีเรีย เคยพบระบาดที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เมื่อปี 2546 – 2547

ปลาหมอทั้ง 3 ชนิดเป็น เอเลี่ยนสปีชี่ส์ ที่กรมประมงห้ามนำเข้าตั้งแต่ พ.ศ.2561

กรมประมงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงได้มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 9 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ.2561 และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2561 นี้

 สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์ตามประกาศที่ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ได้แก่

 1. ปลาหมอสีคางดำ Sarotherodon melanotheron RÜppell,1852

 2. ปลาหมอมายัน Cichlasoma urophthalmus (GÜnther,1862)

 3. ปลาหมอบัตเตอร์ Heterotilapia buttikoferi (Hubrecht,1881)

 ในส่วนของประกาศฉบับดังกล่าวจะมีแนวทางปฏิบัติหลัก ๆ ที่สำคัญดังนี้ 

 1. กรณีที่เกษตรกรที่เลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิดในบ่อเพาะเลี้ยง ให้รีบนำปลาดังกล่าวส่งมอบให้เจ้าหน้าที่กรมประมงโดยด่วน  

 2. กรณีที่ประชาชนทำการประมงแล้วได้ปลาทั้ง 3 ชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย

 3. กรณีที่ปลาทั้ง 3 ชนิดจากธรรมชาติหลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตนา เกษตรกรสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย

 4. กรณีส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือกรณีจำเป็นอื่นใดที่เพาะเลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิด ไว้เพื่อศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการให้แจ้งขออนุญาตกรมประมงต่อไป

 5. ห้ามผู้ใดปล่อยปลาทั้ง 3 ชนิด ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิดตามมาตรา 144 แห่ง พรก.การประมง 2558

 สำหรับบทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 64 หรือมาตรา 65 วรรคสองต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ภาพโดย 愚木混株 Cdd20 จาก Pixabay

คิดก่อนปล่อยปลา

ปลาหมอคางดำ และปลาหมออื่น ๆ ที่เป็นสัตว์เอเลี่ยน ยังเป็นที่ถกเถียงว่าต้นเหตุมาจากใคร เรื่องนั้นต้องติดตามข่าวสารกันไป แต่ที่แน่ ๆ ชาวบ้านอย่างเรา ๆ สามารถลดโอกาสไม่เข้าร่วมปล่อยเอเลี่ยนสปีชีส์ได้ โดยคิดก่อนปล่อยปลา

ทำไมต้องคิดก่อนปล่อยปลา นั่นเพราะ คนไทยนิยมปล่อยปลาเพื่อเป็นการสะเดาะห์เคราะห์ ทำบุญในวาระต่าง ๆ ปลาที่นิยมปล่อยเป็นอันดับต้น ๆ ก็พวกปลาไหล  ปลาหมอ ฉะนั้นนับจากนี้ นอกจากต้องดูแหล่งน้ำว่าเหมาะกับปลาไหม ต้องดูด้วยว่า ปลานั่นเป็นปลาท้องถิ่นไทยไหม

ภาพโดย OpenClipart-Vectors จาก Pixabay

ปลาเอเลี่ยน

กรมประมงลิสต์รายชื่อปลาที่ไม่ควรปล่อย ดังนี้ ปลาดุกอัฟริกัน ปลาดุกลูกผสม หรือ “บิ๊กอุย”, กุ้งเครย์ฟิช, เต่าญี่ปุ่น หรือ  เต่าแก้มแดง, ปลาหางนกยูง, ปลากดเกราะดำ ปลากดเกราะลาย, ตะพาบไต้หวัน, ปลาทับทิม, ปลานิล, ปลาหมอสีคางดำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ปลาต่างถิ่นบางชนิดที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ยังเหมาะสำหรับการเพาะเลี้ยงในบ่อเพาะเลี้ยงแบบปิดเท่านั้น ไม่เหมาะกับการปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ปลานิล ปลาทับทิม ปลาหางนกยูง ปลาดุกบิ๊กอุย

อ้างอิง

ปลาหมอบัตเตอร์ ปลาต่างถิ่นต้องห้าม ระบาดหนักในเขื่อนสิริกิติ์

ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำอย่างไรให้ถูกต้อง

รู้จัก “10 ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์” หายนะของระบบนิเวศ ห้ามนำเข้าไทย ไม่ได้มีแค่ปลาหมอคางสีดำ!

โผล่บ่อบางปู “หมอมายัน” “อธิบดีประมง” ระบุปี 60 พบคางดำบ่อบริษัทดัง

ประชาสัมพันธ์ กรมประมง

Cichlasoma urophthalmus Mayan Cichlid


อ่านเรื่องอื่น ๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลั่นแกล้ง

You may also like...