หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน กรณีศึกษาจาก ทุเรียนยะลา เพราะเป็นหนอนมาเลย์
ราววันที่ 20 กรกฏาคม 2567 มีข่าวว่า จีนตีกลับ ทุเรียนยะลา จำนวน 4 ตู้ เพราะเจอหนอนเจาะทุเรียน ทำให้ชาวยะลาใจเสียไปตาม ๆ กัน เนื่องจากอาจทำให้ราคาทุเรียนตก และโดนกดราคาได้ ซึ่งไม่เฉพาะพื้นที่ จ.ยะลา แต่หมายรวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังจากเกิดข่าวจีนตีกลับทุเรียนยะลา วันที่ 23 กรกฏาคม 2567 ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ออกมาให้กำลังใจชาวสวน พร้อมยืนยันว่า ผลผลิตในพื้นที่จังหวัดยะลา เพิ่งเข้าสู่ต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวเอง ซึ่งในวันที่ 23 เพิ่งตัดมีดแรก ฉะนั้นข่าวที่ว่า ทุเรียนยะลามีหนอนเจาะเมล็ด จึงเป็นอะไรที่ไม่ชัดเจน จึงวอนให้ทุกฝ่ายพิจารณาข่าวให้รอบคอบ เพื่อความถูกต้องของข้อมูล
ทบทวนข่าวเพื่อความถูกต้อง
ผู้เขียนได้ย้อนอ่านข่าว จีนตีกลับทุเรียนหนอนเจาะ 4 ตู้ ล้งเมินซื้อยะลา-กดต่ำ 35-50 บาท/กก ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 67 แล้ว เนื้อหาโดยสรุป คือ ปีก่อนหน้าล้งขาดทุนจากทุเรียนยะลามาก เพราะพบทุเรียนมีหนอน จึงค่อนข้างกังวล และเมื่อล่าสุดมีข่าวว่าจีนตีกลับทุเรียนจำนวน 4 ตู้ จึงระวังทุเรียนจากยะลากันมากขึ้น เนื่องจากซื้อขายทุรียนจากภภาคอื่น ไม่เคยพบปัญหานี้
สอดคล้องกับการแชร์ความคิดเห็น ประสบการณ์ด้านปลูก และส่งออกทุเรียนในพื้นที่ยะลา พบว่า คนส่งออกบอกว่าเจอหนอนจริง เสี่ยงจริง, คนกลางก็มีบอกว่า มีบางสวนที่ขาดความรู้ไม่เอาใจใส่ทำให้ทุรียนถูกหนอนเจาะ กระทั่งกระทบเป็นวงกว้าง, ในขณะที่ชาวสวนบางส่วนบอกว่า เป็นการดิสเครดิต ตัดราคา เนื่องจากผลผลิตออกหลังจังหวัดอื่น
ย้อนรอยหนอนเจาะทุเรียนอีกสัก 1 ปี
ปี 2566 มีข่าวว่า สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) ตรวจพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จากบริษัทผู้ส่งออก 8 บริษัท และตีกลับจำนวน 29 ตู้ ประมาณ 300 ตัน จากผู้ประกอบการ หรือ “ล้ง” ในพื้นที่ จ.ชุมพร
ในเนื้อหาข่าว ระบุว่า เนื่องจากชุมพรเป็นศูนย์กลางการส่งออกทุเรียนในภาใต้ จึมีทุเรียนจากหลายที่มารวมกัน สำหรับปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและทุเรียนหนอนเจาะเมล็ด จากการตรวจสอบของหน่วยงานเกี่ยวข้องพบว่ามาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกแบบธรรมชาติ ลดต้นทุน ไม่ใช้วิธีการหรือสารกำจัดแมลงแต่อย่างใด
จากข่าว จึงพอสรุปได้ว่า เพราะเคยเจอหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนมา ล้งจึงระแวง ทุเรียนยะลา นั่นเอง ฉะนั้นถึงยังไม่เก็บเกี่ยว ก็ต้องระวังไว้ก่อน
มองในด้านผู้บริโภค ทุเรียนมีหนอน เท่ากับว่าปลอดสารพิษ แต่ในด้านการส่งออก มันมองอย่างนั้นไม่ได้ เอาเข้าจริงต่อให้ผู้บริโภครายย่อยเอง เจอหนอนทุกลูกไป ก็ไม่ไหวเหมือนกัน
รู้จักหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน
หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน มีหลายชื่อ ได้แก่ หนอนใต้, หนอนรู, หนอนมาเลย์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศมาเลเซีย แล้วระบาดเข้ามาทางภาคใต้ของประเทศไทย ดูแค่ชื่อก็พอเดาได้ว่า ทำไมล้งภาคอื่นจึงไม่ค่อยเจอปัญหานี้ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Mudaria luteileprosa Holloway อยู่ในวงศ์ Noctuidae
ลักษณ์ของหนอนชนิดนี้ ตัวเต็มวัย คือ ผีเสื้อกลางคืน วิธีการเข้าทำลายทุเรียน เจ้าผีเสื้อกลางคืนที่พร้อมวางไข่ จะบินไปยังสวนทุเรียน แล้วเลือกวางไข่บนผลทุเรียนอ่อน ตัวอ่อนก็จะเจาะเข้าไปกินเมล็ดทุเรียน แล้วถ่ายออกมาปนกับเนื้อทุเรียน ทำให้เนื้อทุเรียนเสีย เมื่อโตพร้อมจะเป็นผีเสื้อ ซึ่งก็โตพร้อมทุเรียนเหมาะกับการตัดขาย หนอนก็จะเจาะเปลือกออกมาอีกครั้ง เพื่อจะห่อเปลือกเป็นดักแด้ ซึ่งภาวะดักแด้ของมันต้องโรยตัวลงไปฝังตัวอยู่ใต้ดิน ใช้เวลาในร่างดักแด้ 1 – 9 เดือน แล้วออกโบยบิน ก็พร้อมกับทุเรียนออกลูกรอบใหม่พอดี
การสังเกตรอยเจาะของหนอนนั้นดูยาก เพราะตัวมันเล็ก ประจวบเหมาะกับทุเรียนกำลังขยายตัว จึงทำให้ปิดรูไป แต่รูตอนเจาะออก เห็นได้ชัดเลยล่ะ
วิธีป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
1. ไม่ควรขนย้ายเมล็ดทุเรียนจากอื่นเข้ามาปลูก ถ้ามีความจำเป็นควรคัดเลือกเมล็ดอย่างระมัดระวัง
หรือแช่เมล็ดด้วยสารฆ่าแมลง เช่น มาลาไทออน 83% EC อัตรา 40 มิลลิลิตร หรือคาร์บาริล 85% WP อัตรา 50 กรัม โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร
2. ห่อผลระยะยาวโดยใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่นขนาด 40 x 75 เซนติเมตร เจาะก้นถุงเพื่อระบายน้ำ สามารถป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยมาวางไข่ได้ โดยเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์เป็นต้นไปจนถึงเก็บเกี่ยว
3. การป้องกันกำจัดด้วยวิธีผสมผสาน โดยพ่นสารแมลง ได้แก่ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% CS อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือคาร์บาริล 85% WP อัตรา 50 กรัม โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นห่างกัน
ครั้งละ 1 สัปดาห์ เริ่มเมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์ และห่อด้วยถุงพลาสติกขาวขุ่น ขนาด 40 x75 เซนติเมตร เจาะก้นถุงเพื่อระบายน้ำ เมื่อผลอายุ 10 สัปดาห์
4. การใช้กับดักแสงไฟโดยใช้หลอด black light เพื่อล่อตัวเต็มวัยหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนมาทำลาย
5. การป้องกันกำจัดโดยใช้สารฆ่าแมลง เมื่อพบตัวเต็มวัยเริ่มระบาดให้ใช้สารคาร์บาริล 85% WP อัตรา 50 มิลลิลิตร หรือเดลทาเมทริน 3% EC อัตรา 15 มิลลิลิตร หรือแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% CS อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือเบตา-ไซฟลูทริน 2.5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์
สรุป
จากข้อมูลทั้งหมด เรื่องล้งตีกลับทุเรียนยะลา อย่าด่วนว่าเพราะจะกดราคากันเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้มองคุณภาพของพื้นที่ด้วย พร้อมกันนี้อยากให้รวมกลุ่ม แนะนำให้ความรู้การดูแลและป้องกันหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เพราะบางสวนอาจไม่มีความรู้เรื่องนี้เลยก็ได้ บางครั้งการต่างคนต่างทำก็อาจส่งผลเสียในวงกว้างก็ได้
สำหรับบทความนี้ไม่ได้เขียนในฐานะนักวิชาการ ออกแนวเล่าข่าว สรุปเนื้อหา เพื่อชวนมองตามกรณีศึกษา ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าครับ