มะมุด ผลไม้กลิ่นแรงแต่คุณประโยชน์เต็มเปี่ยม
เมืองไทยมีผลไม้รสเปรี้ยวให้ได้กินแบบสด ๆ รสจี๊ดจ๊าด หรือยำให้ซี๊ดซ๊าดหลากหลาย บางชนิดมีให้เห็นเฉพาะภูมิภาค เมื่อคนต่างภาคไปพบเข้า ก็มักถูกเจ้าถิ่นหลอกให้ลองชิมเสมอ มะมุด ก็เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งของภาคใต้ไทย ที่กินแบบเปรี้ยวได้ หวานได้ ทำอาหารคาวได้
มะมุดชื่อนี้หากใครที่ไม่เคยเจอตัวจริงของมัน อาจจะนึกไปถึง ละมุด ผลไม้ทรงรีขนาดเท่ากำปั้นทารก สีน้ำตาล รสหสานฉ่ำ เมล็ดรีดำ ก็ได้ แต่มะมุดที่กล่าวถึงนี้ เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับมะม่วง เป็นผลไม้พื้นเมืองของภาคใต้ พบได้ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น ส้มมุด มะม่วงป่า เป็นต้น แต่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mangifera foetida อยู่ในวงศ์มะม่วง คือ Anacardiaceae
ลักษณะเด่นของมะมุด คือ กลิ่นหอมฉุน หอมแรง คนที่ไม่ชอบจะรับไม่ได้เลย เหมือนกลิ่นทุเรียน นักกินทุเรียนบอกหอม ส่วนคนที่ไม่นิยมจะบอกเหม็น ประมาณนั้น ซึ่งความหอมฉุนของมะมุด ตรงกับชื่อวิทยาศาสตร์ที่ว่า foetida เพราะคำนี้เป็นภาษาละติน แปลว่า มีกลิ่นเหม็น
ลักษณะโดยทั่วไป
มะมุดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร เปลือกแตกเป็นสะเก็ด ใบเดี่ยวรูปหอก สีเขียวเข้ม ดอกออกเป็นช่อคล้ายช่อมะม่วงสีชมพูอมแดงกลิ่นหอมเย็น ส่วนผลเป็นรูปไข่ขนาดใหญ่ กว้าง 6 – 7 เซนติเมตร ยาว 8 – 10 เซนติเมตร ตอนอ่อนสีเขียว พอสุกจะมีเหลืองแกมเข้ามา เนื้อมีเส้นใยมาก
มะมุดไม่ใช่นึกจะกินดิบก็กินได้ทันที เพราะผลดิบมียาง ซึ่งมีฤทธิ์กัดผิวหนัง ทำให้ระคายปาก ถึงขั้นเป็นแผลและปากเปื่อยได้ แต่เมื่อสุกดีแล้วจะไม่มียาง สามารถปอกกินได้โดยสบายใจ
จากคุณลักษณะเรื่องยาง ทางจังหวัดนราธิวาสบางชุมชนจึงมีกุศโลบายสอนลูกหลานว่า มะมุดนั้นห้ามกินดิบเด็ดขาด เพราะหากกินดิบแล้วจะส่งผลให้ลูกสุกถูกแมลง ถูกหนอนเจาะกิน ทั้งต้นจะไม่มีผลดี ๆ ให้ได้ลิ้มรสเลย ที่บอกอย่างนี้ก็เพราะกลัวเด็ก ๆ ไปเก็บลูกดิบกินแล้วปากเปื่อยนั่นเอง
ถึงอย่างไรมะมุดก็นิยมกินดิบ
มะมุดดิบนั้นอร่อยอย่าบอกใคร แค่ฝานเป็นชิ้น ๆ แล้วจิ้มน้ำปลาหวานก็อร่อยแล้ว ส่วนเรื่องยางนั้นต้องระวังหน่อย เช่น ตอนปากให้สวมถุงมือ ปอกผ่านน้ำไหล แล้วแช่น้ำเกลือเพื่อล้างยางออกให้หมด แค่นี้พิษของยางมะมุดก็หมดฤทธิ์
มะมุดดิบนำมาทำอาหารได้สารพัด เช่น ขูดเป็นฝอยแบบเส้นมะละกอส้มตำ แล้วนำมายำกับปลาป่นมะพร้าวคั่วจี๊ดจ๊าดนัก นำมาตำน้ำพริกก็เรียกเติมข้าวได้สองจานสามจาน แกงส้มก็เลิศ หรือดองไว้กินเล่นยามว่างก็ไม่แพ้เมนูดองใด ๆ
มะมุด กับ มุดม่วง
บางท่านอาจสับสนว่า มะมุดเป็นชื่อเดียวกันกับมุดม่วงหรือไม่ จากบทความ “มุดม่วงที่หาดส้มแป้น” ในคอลัมน์ฟังหูไว้หู โดยไพโรจน์ ผลประสิทธิ์ นิตยสารเคหการเกษตร เล่าว่า ได้พบชาวบ้านที่ปลูกมุดม่วงบอกว่า ที่เรียกมุดม่วง เนื่องจากมันผสมกันระหว่างมะม่วง และมะมุด
กระดานข่าวงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงผลไม้ชนิดหนึ่งคล้ายมะมุด และมุดม่วง แต่ชื่อ “ม่วงมุด” ชื่อวิทยาศาสตร์ Mangifera odorata Griff มียางเป็นพิษเหมือนกัน
สรรพคุณทางยาของมะมุด
- เนื้อไม้ต้มเป็นยาแก้โรคบิด
- ยางใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
- ผลมีวิตามีนซีสูง
- ใบสามารถใช้เป็นยาลดไข้
อ้างอิง
มะมุดพันธุ์ไม้ผลพื้นเมืองหากินได้ยากสรรพคุณมากมาย
อ่านเรื่องอื่น ๆ
คตปู ปูกลายเป็นหิน เครื่องรางทนสิทธิ์ ริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก
หลุมพี เมื่อฉันหลงรักความเปรี้ยวชายแดนใต้