สะตอ มีมากกว่าเอกลักษณ์ภาคใต้

ฝักสะตอ

สะตอ เป็นผักชนิดหนึ่งที่ใครชอบก็ชอบเลย ใครไม่ชอบก็ไม่เอาซะเลย ถึงแม้จะเป็นพืชประจำถิ่นภาคใต้ และเป็นเอกลักษณ์ภาคใต้ ชนิดที่เมื่อเอ่ยว่า เด็กแดนสะตอ รู้เลยว่ามาจากไหน แต่คนใต้จำนวนไม่น้อยที่ไม่รับประทานสะตอ เหตุผลเหมือนคนภาคอื่น ๆ คือ กลิ่นเหม็นเขียวรุนแรง รสเผ็ดพร่า และกินแล้วมีกลิ่นปาก การขจัดกลิ่นสะตอติดปาก ท่านว่าให้กินมะเขือเปราะตามจะช่วยได้ บางท่านบอกกินทั้งเปลือกช่วยได้ ซึ่งก็แล้วแต่ตามสูตรใคร บทความนี้นอกจากเล่าเรื่องรสชาติแล้วยังกล่าวถึงประโยชน์ด้านสุขภาพอีกด้วย

ฝักสะตอแกะเมล็ด

ข้อมูลพื้นฐานสะตอ

ถิ่นกำเนิดของสะตอเป็นเขตร้อนชื้นอย่างภาคใต้ของไทย ซึ่งรวมถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย และพม่า เจริญเติบโตได้ดีตามเชิงเขา ป่าสมบูรณ์ มีความชื้นในอากาศสูง ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดจึงกลายเป็นพืชเอกลักษณ์ภาคใต้

สะตอมีชื่อสามัญว่า Bitter bean, Twisted cluster bean, Stink bean ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์คือ Parkia speciosa Hassk. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Parkia macropoda Miq.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)

กระถิน พืชคล้ายสะตอ

ทางภาคใต้เรียกกระถินว่า สะตอเบา (ตอเบา) เพราะลักษณะของกระถินคล้ายสะตอแต่ต้นเล็กกว่า ฝักเล็กกว่า กลิ่นก็ฉุนพอกัน

ทั้งนี้กระถินมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Leucaena leucocephala (Lamk.) de Wit ชื่อสามัญ White Popinac, Lead Tree อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE-MIMOSOIDEAE พิจารณาจากวงศ์แล้ว เรียกว่าสะตอเบาก็ไม่ผิดอะไร

ทั้งนี้ภาษาเจ๊ะเห ซึ่งเป็นภาษาถิ่นของจังหวัดนราธิวาส เรียกสะตอว่า ลูกไต และเรียกกระถินว่า ไตเบา

สะตอผัดกุ้งกะปิ

ความอร่อยของสะตอ

ปัจจุบันสะตอได้รับความนิยมรับประทานอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ เพราะนอกจากรับประทานสดได้แล้ว ยังสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น สะตอผัดกุ้ง ผสมคั่วกลิ้ง แกงกะทิ เป็นต้น

ส่วนตัวผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ชอบรับประทานสะตอเป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะสะตอต้ม กับสะตอดอง ชนิดที่ว่านำมากินเล่นเป็นขนมกินเล่น กินเป็นของว่างพางนั่งดูทีวีนั่นเลย ครั้งหนึ่งนำสะตอดองมาแกล้มเหล้า ก๊งกับเพื่อน 2 คน 1 ขวด เหล้าหมด เดินเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อเหล้าเพิ่ม ปรากฏว่า กลิ่นเหล้าพากลิ่นสะตอดองออกจากปาก จากลมหายใจ เหม็นหึ่งชวนอ้วกตลบร้านที่ติดเครื่องปรับอากาศ จนพนักงานพูดดัง ๆ “ใครเหยียบขี้เข้ามา” ถึงกับอายตัวม้วน ไม่กล้าเข้าร้านไปหลายวัน ก็ตอนนั้นทั้งร้านมีแค่ผู้เขียนกับเพื่อนที่เป็นลูกค้า

สะตอกินสด

สรรพคุณของสะตอ

สะตอ มีกลิ่นเหม็นเขียวรุนแรง บางคนกินแล้วท้องเสีย ฉะนั้นอาจคิดว่าสะตอไม่ค่อยมีสรรพคุณทางยา แถมขับถ่ายออกมาแล้วกลิ่นชวนเหียนเชียว ทั้งปัสสาวะ และอุจจาระ ท่าไตจะทำงานหนัก จริง ๆ แล้วเจ้าสะตอนี่มากประโยชน์เลยล่ะ ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย นิยมใช้เมล็ดสดรับประทาน แก้อาการผิดปกติของไต

สำหรับประโยชน์ทางด้านโภชนาการของสะตอประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 และวิตามินซี มากเอาการเลยใช่ไหมล่ะ

นอกจากประโยชน์ทางโภชนาการแล้ว การกินสะตอยังช่วยบำรุงสายตา เจริญอาหาร ป้องกันหลอดเลือดอุดตัน ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด เชื่อว่าการรับประทานเป็นประจำจะช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ ทั้งนี้สะตอช่วยแก้ไตพิการ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราอีกด้วย

เห็นว่าสะตอมีประโยชน์มากแล้ว ใช่ว่าจะกินจนเกินงามได้นะ อย่าลืมว่าของมีประโยชน์ถ้ากินมาก ๆ ก็อาจเป็นโทษได้ เช่น สะตอดองที่ใช้เกลือหมัก แทนที่สะตอจะช่วยแก้อาการไต อาจต้องมาเป็นโรคไตเพราะกินเค็มเกินพิกัดก็ได้ (อันนี้เอาฮานะครับ)

สะตอดอง

โทษของสะตอ

มีประโยชน์ก็ย่อมมีโทษ สะตอมีมีกรดยูริกสูง ท่านใดเป็นโรคเกาต์ หรือมีกรดยูริกใน่รางกายสูงมากกว่าค่ามาตรฐานควรเลี่ยง

อ้างอิง

กระถินไทย

medthai

สะตอ(Bitter bean)

wikipedia


อ่านเรื่องอื่น ๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลั่นแกล้ง

รู้จักฮิปโปโปเตมัสแคระผ่าน หมูเด้ง เซเลบฯ แห่งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ตามหา ขวานฟ้า ขวานรามสูรมีจริง

มะมุด ผลไม้กลิ่นแรงแต่คุณประโยชน์เต็มเปี่ยม

You may also like...