รู้จักเสือโคร่งไทย ผ่าน น้องเอวา เสือสายแบ๊วแห่งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี
ขึ้นชื่อว่าเสือ ภาพความน่ากลัวดุร้ายย่อมมาพร้อมชื่อของมัน แต่เชื่อว่าหากใครได้เห็นความแบ๊วของ น้องเอวา เสือสาวที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ภาพจำเหล่านั้นจะหมดไป เพราะน้องน่ารักชนิดที่ว่าภาพความดุร้ายแห่งสายพันธุ์แมวใหญ่นักล่ากระเจิงเลยทีเดียว น่ารักจนนักท่องเที่ยวต้องรีบซื้อตั๋วเข้าไปชมกันเชียว
เสือโคร่งไทย
หากย้อนไปประมาณ พ.ศ. 2557 จำนวนเสือโคร่งไทยถือว่าเข้าขั้นวิกฤติเกือบสูญพันธุ์ เนื่องจากทั้งประเทศมีจำนวนประชากรเจ้าลายพาดกลอนไม่ถึง 100 ตัว ปัจจุบันแม้ยังถือว่าน้อย แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากหลายหน่วยงานร่วมมือกันอนุรักษ์
ข้อมูล ปี 2567 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร ‘เสือโคร่ง’ ตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 179 – 223 ตัว โดยกระจายอยู่ในกลุ่มป่าต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก 152 – 196 ตัว กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 19 ตัว กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี 5 ตัว กลุ่มป่าฮาลา-บาลา 2 ตัว และกลุ่มป่าชุมพร 1 ตัว
การอนุรักษ์เสือโคร่งจนเพิ่มปริมาณขึ้นมาเรื่อย ๆ นั้น ความสำเร็จไม่ใช่อยู่แค่จำนวนเสือ แต่ยังหมายถึงความสมบูรณ์ของผืนป่าอีกด้วย เพราะเสือกินเนื้อสัตว์อื่นเป็นอาหาร โดยเฉลี่ยใน 1 ปี แมวยักษ์ 1 ตัวกินเนื้อประมาณ 3,000 กิโลกรัม ซึ่งก็ถือว่าเยอะอยู่ แน่นอนสัตว์ที่เป็นเหยื่อ ก็คือ พวกเก้ง กวาง ต่าง ๆ ซึ่งสัตว์เหล่านี้กินพืช นี่แหละถึงบอกว่า การเพิ่มประชากรเสือโคร่ง พ่วงมากับความสมบูรณ์ของผืนป่า
เสือโคร่งไทยพันธุ์อะไร
เสือมีหลายประเภท เสือโคร่งก็เช่นกัน สำหรับเสือโคร่งไทยนั้นเป็นสายพันธุ์อินโดจีน มีรูปร่างใกล้เคียงกับเสือโคร่งสายพันธุ์เบงกอล ถือเป็นเสือขนาดกลาง มีน้ำหนักตัวประมาณ 130 – 200 กิโลกรัม ส่วนลายบนลำตัวนั้น แต่ละตัวมีลายที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน อย่างเรา ๆ มองเผิน ๆ อาจแยกไม่ออก แต่ผู้เชี่ยวชาญเขาดูออก
เสือโคร่งฮาลา-บาลา
จากข้อมูลบอกว่า เสือโคร่งในกลุ่มป่าฮาลา-บาลา มี 2 ตัว น้อยมากหากเทียบกับที่อื่น แต่ถึงจะไม่มาก แต่มันก็โผล่ตัวมาให้ผวาเล่นอยู่บ่อย ๆ เช่น
พฤศจิกายน 2564 อุทยานแห่งชาติบางลาง จังหวัดยะลา เผยภาพกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า พบเสือโคร่งในพื้นที่ สะท้อนความสมบูรณ์ของป่าและการทำงานที่เข้มข้นของเจ้าหน้าที่ฯ ในการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเฝ้าระวังภัยคุกคามสัตว์ป่า
พฤศจิกายน 2566 ชาวบ้าน พบเสือ พื้นที่ ต.ยะรม อ.เบตง จ. ยะลา
พฤศจิกายน 2567 พื้นที่ ม. 12 ชุมชนพัฒนา (กลุ่มบ้านจิตยุหราบน) ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา ทางทีมผู้นำหมู่บ้าน อุทยาน พร้อมด้วยชาวบ้านร่วมกันแกะรอย จากภาพเก็บกู้กล้องวงจรปิด พบเสือย้อนกลับมาบริเวณที่เกิดเหตุ กินซากลิงที่เหลืออีกครั้ง เป็นต้น
จะเห็นว่าทั้งชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่พบเสือค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน
เสือโคร่งอยู่ที่ไหนบ้างในโลกนี้
นอกจากในส่วนสัตว์อย่าง น้องเอวา แล้ว ประเทศที่พบว่ามีเสือโคร่งอาศัยอยู่ มีเพียง 13 ประเทศ ได้แก่
บังกลาเทศ
ภูฏาน
กัมพูชา
จีน
อินเดีย
อินโดนีเซีย (สุมาตรา)
ลาว
มาเลเซีย
พม่า
เนปาล
รัสเซีย
ไทย
เวียดนาม
และไม่กี่ตัวในเกาหลีเหนือ
เบื้องหลังความแบ๊วของเอวา
หมูเด้ง มีพ่อดัน ก็คือพี่เลี้ยงนั่นแหละ ที่ถ่ายภาพ และนำเสนอคอนเทนต์ให้ผู้คนได้เห็นถึงความน่ารัก น้องเอวาก็เช่นกัน ทราบว่า ช่างภาพใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมงในแต่ละวัน ถ่ายภาพมุมต่าง ๆ ของเสือน้อยตัวนี้รวมวันละไม่ต่ำกว่า 200 ภาพ และภาพที่เราเห็นนั่นเป็นแค่บางส่วน ซึ่งมีมุมน่ารัก ๆ อีกมาก ฉะนั้นรอติดตามชม หรือใครอยากเห็นแบบสด ๆ ก็เชิญได้ที่ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/news/local/north/2826861
https://www.thaipbs.or.th/news/content/330093
https://www.facebook.com/share/p/of2amm93KdWiaQHp
http://news.dnp.go.th/news/8896
อ่านเรื่องอื่น ๆ
กระบือ เมื่อควายก็มี พิษสุนัขบ้า
ตามรอย บาเตาะ ตำนาน “มนุษย์กินคน” ที่แว้ง
ชายแดนใต้ ในสายตาคนพื้นที่… เรื่องเล่า 3: นกเงือก ที่มักสับสนกับทูแคน ทั้ง ๆ ที่เป็นคนละประเภท