ศาลเจ้าพ่อครุฑ 100 ปี

พญาครุฑ เป็นสัตว์กึ่งเทพในปกรณัมอินเดีย มีอิทธิฤทธิ์ พลานุภาพมาก เป็นพาหนะคู่บารมีพระนารายณ์มหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาฮินดู  ในทางพุทธศาสนาครุฑจัดเป็นเทวดาจำพวกหนึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของท้าววิรุฬหก ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านใต้ และคติไทยโบราณเชื่อว่า ครุฑเป็นพญาแห่งนกทั้งหลาย อาศัยอยู่วิมานฉิมพลี ได้รับให้เป็นอมตะ นอกจากนี้ พญาครุฑยังเป็นตัวแทนแห่งความกตัญญูกตเวที ความจงรักภักดี  อำนาจวาสนาและความร่ำรวย คนไทยเป็นชนชาติที่นิยมบูชาพญาครุฑมาแต่โบราณนับพันปี โดยมีสถานที่สักการะบุชาพญาครุฑหลายแห่งทั่วประเทศ รวมถึงบริเวณ “เกาะรัตนโกสินทร์” ชุมชนโบราณอายุหลายร้อยปี ที่มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของชาวไทยมาอย่างยาวนาน เช่น พระบรมมหาราชวัง  วัดพระแก้ว ศาลหลักเมือง เทวสถานโบสน์พราหมณ์ ศาลเจ้าพ่อเสือ และรวมถึง ศาลเจ้าพ่อครุฑ อายุนับ 100 ปี ที่ตั้งอยู่ภายในตรอกครุฑ  ริมคลองหลอด ย่านพระนคร กรุงเทพมหานคร  

ศาลเจ้าพ่อครุฑ แห่งนี้ ตั้งอยู่ในตรอกเล็กๆ ชื่อว่า “ตรอกครุฑ” ที่อยู่ระหว่างบนถนนอัษฎางค์ (บริเวณคลองหลอด) ตัดกับถนนบูรณศาสตร์   บริเวณตรงหน้าศาลเจ้าพ่อครุฑเดิมเมื่อ 100 กว่าปีก่อนยังเป็นร่องน้ำลึกประมาณครึ่งลำตัวซึ่งเชื่อมต่อมาจากคลองหลอด ต่อมาทางราชการได้ทำถนนผ่านเข้าออก ทำไมไม่เห็นสภาพร่องน้ำอย่างแต่เดิม ชาวบ้านในชุมชุนตรอกครุฑเล่าว่า เมื่อก่อนยังไม่มีศาลเจ้าพ่อครุฑ ยังไม่มีชื่อตรอกครุฑอย่างปัจจุบัน ต่อมาปรากฏว่าน้ำได้พัดพาครุฑไม้แกะสลักสีดำเมี่ยม (สันนิษฐานว่าเป็นครุฑไม้ที่ติดกับหัวเรือรบสมัยโบราณ)  พร้อมกับหัวจระเข้ 2 หัว ลอยมาตามร่องน้ำ และมาหยุดอยู่ตรงบริเวณที่ตั้งศาลเจ้าพ่อครุฑนี้  ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างศาลขึ้นและนำครุฑไม้ไปประดิษฐ์ฐานเพื่อสักการะ บูชา ขอพร  เรียกว่า “ศาลเจ้าพ่อครุฑ” นับแต่นั้นมาบริเวณนี้จึงถูกเรียกว่า “ตรอกครุฑ” แต่ทว่าเมื่อราว 50 ปีก่อน ครุฑไม้แกะสลักเดิมได้หายไป ทางกรมศิลปากรจึงได้แกะสลักครุฑองค์ใหม่ขึ้นนำมาประดิษฐ์ฐานแทนที่ครุฑไม้องค์เดิมที่หายไป  

ต่อมา พ.ศ. 2559 พระอาจารย์วราห์ ปุญญวโร แห่งวัดโพธิ์ทอง บางมด กรุงเทพมหานคร พระเกจิผู้สร้างวัตถุมงคลพญาครุฑแห่งวัดโพธิ์ทองซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบัน ได้มาทำการบูรณะศาลเจ้าพ่อครุฑและได้สร้างครุฑองค์ใหญ่อีกองค์หนึ่งมาประดิษฐ์ฐานคู่กับครุฑองค์เดิมที่ทางกรมศิลป์นำมาประดิษฐ์ฐานไว้แทนครุฑไม้แกะสลักที่หายไปเมื่อ 50 ปีก่อน พร้อมจัดงานบวงสรวงขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2559  

ปัจจุบัน ศาลเจ้าพ่อครุฑ มีบุคคลทั้งในชุมชนตรอกครุฑและชุมชนใกล้เคียงรวมถึงบุคคลทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมมากราบไหว้บูชาและขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยเฉพาะด้านเงินทอง โชคลาภ ขจัดสิ่งอัปมงคลทั้งหลาย และปกป้องให้รอดพ้นจากไฟไหม้ เป็นต้น  นอกจากนี้ บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อครุฑยังมีการให้เช่าวัตถุมงคลเกี่ยวกับองค์พญาครุฑ อีกด้วย

คำแนะนำ สำหรับคาถาบูชาพญาครุฑ  ดังนี้

 “(ตั้ง นะโม 3 จบ)

คะรุปิจะ กิติมันตัง มะอะอุ

โอมพญาครุฑ รุจ รุจ แล้วรวย

นะได้เงิน นะได้ทอง นะได้ทรัพย์

 นะเมตตา นะล้างอาถรรพ์            

นะเจริญ นะมั่นคง อธิฐามิ”


อ่านเรื่องอื่น ๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลั่นแกล้ง

ชายแดนใต้ ในสายตาคนพื้นที่… เรื่องเล่า 4: น้ำท่วมภาคใต้ บางนราก็อ่วม

รู้จักเสือโคร่งไทย ผ่าน น้องเอวา เสือสายแบ๊วแห่งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

กระบือ เมื่อควายก็มี พิษสุนัขบ้า

You may also like...