สมบูรณ์แบบที่สุด 5 ศิลปินชื่อดัง ปั่น-กบ-แมว-เมย์-ออย ร่วมน้อมรำลึกถ่ายทอดบทเพลงพระราชนิพนธ์ในงานคอนเสิร์ต ‘H.M. Blues’
สำเร็จไปอย่างงดงามกับ ‘H.M. Blues’ คอนเสิร์ตเพื่อน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ที่จัดขึ้นโดย ‘เนชั่น กรุ๊ป’ (Nation Group) ร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ในเย็นวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567 โดยที่รายได้ทั้งหมดจากการจําหน่ายบัตร ไม่หักค่าใช้จ่าย ได้นําไปมอบให้แก่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาและวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านดนตรี
ความพิเศษในคอนเสิร์ตครั้งนี้ไม่เพียงแค่การหยิบเอาบทเพลงแจ๊สที่ทรงพระราชนิพนธ์มาแสดงให้ผู้เข้าชมได้น้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของรัชกาลที่ ๙ เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการนำเสนอการแสดงดนตรีแจ๊สอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งคอมโบ และบิ๊กแบนด์ จากวงแจ๊สออร์เคสตรามหาวิทยาลัยรังสิต (RSU Jazz Orchestra) ภายใต้การควบคุมของ รศ.ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต และศิลปินศิลปาธร
เสียงดนตรีในคอนเสิร์ตเริ่มต้นด้วยบทเพลง ‘ยามเย็น’ ฉบับบรรเลงโดยวงแจ๊สออร์เคสตราที่นำโดย รศ.ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ เป็นฉบับที่คึกคัก สนุกสนาน และในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่และกินใจ เปรียบเสมือนบทเพลงที่ชวนผู้ชมมารู้จักกับเสียงดนตรีของวงแจ๊สออร์เคสตราจากมหาวิทยาลัยรังสิต ก่อนจะต่อด้วย ‘แสงเดือน’ ที่ได้ผสานเข้ากับการขับร้องของ ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว ตามมาด้วย ‘Echo’ บทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 41 ที่เป็นหนึ่งในบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระองค์ได้ทรงประพันธ์ทำนองและเนื้อร้องภาษาอังกฤษด้วยตัวของพระองค์เอง โดยมี เมย์-ฝนพา ปราโมช ณ อยุธยา เป็นผู้ขับร้อง และเดี่ยวเปียโนโดย ดร.โสภณ สุวรรณกิจ
เมื่อสิ้นสุดลงก็เดินหน้าสู่บทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับต่อไปอย่าง ‘ภิรมย์รัก’ หรือ ‘A Love Story’ จากชุดกินรีสวีท โดยมี กบ-เสาวนิตย์ นวพันธ์ มาเป็นผู้ขับร้อง โดยเธอก็ได้เผยว่าในคอนเสิร์ตนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เธอได้มีโอกาสร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์นี้ ทั้งยังเป็นหนึ่งในบทเพลงที่ตัวของเธอเองชื่นชอบที่สุด ก่อนจะต่อด้วยเพลง ‘อาทิตย์อับแสง’ จากน้ำเสียงเสียงของ ออย-กุลจิรา ทองคำ
ตามมาด้วยบทเพลงบรรเลงอย่าง ‘ศุกร์สัญลักษณ์’ หรือ ‘Friday Night Rag’ ที่มาพร้อมเสียงกีตาร์ของ แมว-จิรศักดิ์ ปานพุ่ม ที่ผสมผสานทั้งความเป็นบลูส์และแจ๊สเข้าด้วยกัน ที่นับเป็นจุดที่ขยับจากความไพเราะนุ่มละมุนไปสู่ความสนุกสนานและจังหวะที่ชวนขยับเขยื้อน โดยเฉพาะการโซโล่และด้นสดจากทั้ง แมว จิรศักดิ์ วงแจ๊สออร์เคสตรา ซึ่งพาให้ทั้งโรงละครต่างพากันปรบมือให้
ก่อนจะเข้าสู่ช่วงต่อมาโดยเริ่มต้นที่บทเพลงป็อป-ร็อกของ แมว จิรศักดิ์ อย่าง ‘เยาวราช’ ที่ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ในสไตล์แจ๊สเพื่อคอนเสิร์ตนี้โดยเฉพาะ โดยมีวงแจ๊สออร์เคสตราร่วมบรรเลงไปพร้อม ๆ กัน ก่อนจะเดินหน้าไปถึงบทเพลงสากลแนวแจ๊สสแตนดาร์ดอย่าง ‘What a Difference a Day Makes’ โดยมี ออย กุลจิรา เป็นผู้ขับร้อง
ก่อนจะต่อด้วยบทเพลงสากลลำดับถัดไป ‘It Had to Be You’ โดยมี ปั่น ไพบูลย์เกียรติ ขึ้นมาขับร้องอีกครั้ง และต่อด้วย ‘On the Sunny Side of the Street’ ที่มาพร้อมเสียงร้องของ เมย์ ฝนพา ก่อนจะไปถึงอีกหนึ่งบทเพลงที่ผู้ชมหลายคนน่าจะคุ้นหูกันดีอย่าง ‘Fly Me to the Moon’ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเสียงของ กบ เสาวนิตย์
ในช่วงสุดท้ายก็ได้เริ่มต้นด้วยที่บทเพลงที่ชาวไทยต่างคุ้นหูและยังเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์อันเป็นชื่องานคอนเสิร์ตในครั้งนี้อย่าง ‘ชะตาชีวิต’ หรือ ‘H.M. Blues’ และโดยเป็นการขับร้องโดย ปั่น ไพบูลย์เกียรติ บรรเลงกีตาร์โดย แมว จิรศักดิ์ ผสานเข้ากับวงแจ๊สคอมโบมหาวิทยาลัยรังสิต (RSU Jazz Combo) ที่มาพร้อมกับท่อนโซโล่จากทั้งทรอมโบน ทรัมเป็ต และกีตาร์ ที่ได้สยายทั้งความเป็นแจ๊สและความเป็นบลูส์ออกมาได้อย่างถึงขั้วอารมณ์
ก่อนจะต่อด้วยอีกหนึ่งบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ใครหลายคนย่อมรู้จักดี ‘ในดวงใจนิรันดร์’ หรือ ‘Still On My Mind’ ด้วยเสียงร้องของ เมย์ ฝนพา โดยที่มีวงแจ๊สออร์เคสตรามหาวิทยาลัยรังสิตกลับมาบรรเลงดนตรีต่ออีกครั้ง ต่อด้วย ‘Old Fashioned Melody’ ที่ ออย กุลจิรา ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้ขับขานเสียงร้อง จนมาถึง ‘ดวงใจกับความรัก’ ที่ กบ เสาวนิตย์ ได้ขึ้นเวทีมาบรรเลงเสียงร้องของเธออีกครั้ง
ภายหลังจากนั้นก็เป็นช่วงที่ทั้งนักร้องและนักดนตรีในครั้งนี้ได้ขึ้นเวทีพร้อมกันเพื่อกล่าวขอบคุณผู้ชม และกล่าวความรู้สึกและความในใจของแต่ละคนเกี่ยวกับความประทับใจและประสบการณ์ส่วนตัวที่มีต่อบทเพลงพระราชนิพนธ์ว่าเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของพวกเขาอย่างไรบ้าง รวมไปถึงความรู้สึกของแต่ละคนที่ได้มีส่วนร่วมในงานคอนเสิร์ต H.M. Blues ในครั้งนี้ เมื่อนักร้องและนักดนตรีได้กล่าวขอบคุณและบอกลาเสร็จเป็นที่เรียบร้อย เสียงดนตรีจาก ‘ยามเย็น’ ก็ดังขึ้นอีกครั้ง โดยที่นักร้องทั้งห้าคนได้ร่วมกันร้องเคียงคู่ไปกับเสียงดนตรีจากวงแจ๊สออร์เคสตราของมหาวิทยาลัยรังสิต ผสานกันจนกลายเป็นบทเพลงส่งท้ายให้กับยามเย็นที่สวยงามและทรงคุณค่าจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่กลั่นมาจากพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ที่จะดังกึกก้องในโลกดนตรีและหัวใจของปวงชนชาวไทยไปอีกนานแสนนาน