ทำสวนครัวในบ้าน แบบไม่เปลืองเนื้อที่
อันเนื่องมาจากหมูแพง เศรษฐกิจตกสะเก็ด ลองมาปลูกผักกินในบ้านกันดีไหม โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ทำสวนครัวในบ้าน แบบไม่เปลืองเนื้อที่ ถ้าบ้านที่เราอยู่อาศัยไม่มีบริเวณ หรือมีเพียงน้อยนิด เราอยากจะสวนครัวไว้เก็บผักสด ๆ กินบ้าง จะทำได้ไหม มีวิธีใดบ้าง
ทำสวนกระถาง หรือกระบะ
ปลูก พริก ผักที่เราชอบกินประจำ เช่น สะระแหน่ โหระพา กระเพรา ผักชี ใบหอม ลงในกระถางหรือกระบะ กระถางหรือกระบะ เราสามารถหาที่วาง ไว้ทีระเบียงอพาร์ทเม้นท์ คอนโด หรือข้างบันได ขอบระเบียง บ้าน
ปลูกต้นพริก
ขุดหลุมตื้นๆ ลึกประมาณ 1 นิ้ว
แล้วหยอดเมล็ดพริกลงไป
กลบดิน
แล้วก็รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอด…ก็เริ่มงอกมาให้เห็น
ส่วนพวกโหระพา กะเพราะ สะระแหน่
ก็ใช้ก้านที่เราเด็ดใบแล้วมาปัก
ตะไคร้นี่ง่ายสุดๆ
แค่เอาต้นตะไคร้มาปัก (ด้านหัวลงดิน)
เผลอแป๊บเดียวจะเป็นกอ
การปลูกผักบุ้ง
ผักบุ้งเป็นไม้ที่ปลูกได้ในดินทุกชนิด
ตั้งแต่ในดินที่แห้งแล้งไปจน ถึงที่ที่มีน้ำมาก
และหากมีน้ำมากก็จะทำให้ลำต้นเจริญงอกงามดี
มีความกรอบมากกว่าผัก บุ้งที่เจริญในที่แห้งแล้ง
นอกจากนี้ผักบุ้งยังเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายและรวดเร็ว
สามารถ ปลูกหรือขยายพันธุ์ได้
โดยการแยกกิ่งแก่ไปปักชำ
การทำสวนครัวแขวน
คือการนำพืชผักสวนครัว เช่น พริก ตะไคร้ มะกรูด ผักชีฝรั่ง ต้นหอม เป็นต้น
มาดัดแปลงปลูกลงในวัสดุเหลือใช้ ในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถแขวนไว้แถวชายคา หรือข้างๆ บ้านได้
ซึ่งนอกจากผู้ปลูกเลี้ยงจะได้ประโยชน์ คือสามารเก็บรับประทานได้แล้ว ยังสามารถใช้ประดับประดาบ้านเรือน ให้สวยงามแทนไม้ดอกไม้ประดับ ทั่วไปได้อีกด้วย
ในการปลูกผักหรือพืช จำเป็นต้องมีดินหรือวัสดุให้ต้นพืชยึดเกาะ รวมทั้งมีน้ำ แหล่งธาตุอาหารและสิ่งที่จำเป็นในการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งพิจารณาจากส่วนประกอบดังนี้
สภาพแสงและร่มเงา
มีความจำเป็นในขบวนการสังเคราะห์แสง ของพืชเพื่อสร้างอาหาร โดยทั่วไปแล้วอาจแบ่ง ความต้องการแสง ในการปลูกผัก ดังนี้
– สภาพที่ไม่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ควรปลูกพืชผักที่สามารถเจริญเติบโตในร่มได้ เช่น ต้นชะพลู สะระแหน่ ตะไคร้ โหระพา ขิง ข่า และกะเพรา เป็นต้น
– สภาพที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ควรเลือกปลูกผักที่สามารถเจริญเติบโตได้ในแสงปกติ เช่น ถั่วฝักยาว คะน้า ผักกาดเขียว กวางตุ้ง พริกต่างๆ ยกเว้น พริกขี้หนูสวน
ดินและธาตุอาหารพืช
ดินที่เหมาะสมแก่การปลูกผัก คือ ดินที่มีลักษณะร่วนซุย ถ่ายเทอากาศได้ดี ระบายน้ำดี อุดมด้วยอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืช
การปลูกผักในภาชนะ
ควรจะพิจารณาถึงการหยั่งรากของพืชผักชนิดนั้นๆ พืชผักที่หยั่งรากตื้นสามารถปลูกได้ดีในภาชนะปลูกชนิดต่างๆ และภาชนะชนิดห้อยแขวนที่มีความลึกไม่เกิน 10 เซนติเมตร คือ ผักบุ้งจีน คะน้าจีน ผักกาดกวางตุ้ง (เขียวและขาว) ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดหอม ผักกาดขาวชนิดไม่ห่อ (ขาวเล็ก ขาวใหญ่) ตั้งโอ๋ ปวยเล้ง หอมแบ่ง (ต้นหอม) ผักชี ขึ้นฉ่าย ผักโขมจีน กระเทียมใบ (Leek) กุยช่าย กระเทียมหัว ผักชีฝรั่ง บัวบก สะระแหน่ แมงลัก โหระพา (เพาะเมล็ด) กะเพรา (เพาะเมล็ด) พริกขี้หนู ตะไคร้ ชะพลู หอมแดง หอมหัวใหญ่ หัวผักกาดแดง (แรดิช)
วัสดุที่สามารถนำมาทำเป็นภาชนะปลูกอาจดัดแปลงจากสิ่งที่ใช้แล้ว เช่น ยางรถยนต์เก่า กะละมัง ปลอกซีเมนต์ เป็นต้น สำหรับภาชนะแขวนอาจใช้ กาบมะพร้าว กระถาง หรือเปลือกไม้
วิธีการปลูกผักในภาชนะแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี
– เพาะเมล็ดด้วยการหว่านแล้วถอนแยกหรือหยอดเป็นแถวแล้วถอนแยก ซึ่งพืชที่ควรปลูกด้วยวิธีนี้ ได้แก่ ผักบุ้งจีน – คะน้าจีน – ผักกาดขาวกวางตุ้ง – ผักชี – กุยฉ่าย ผักกาดเขียวกวางตุ้ง – ผักฮ่องเต้ (กวางตุ้งไต้หวัน) – ตั้งโอ๋ ปวยเล้ง -ผักกาดหอม – ผักโขมจีน – ขึ้นฉ่าย – โหระพา – ผักชีฝรั่ง กระเทียมใบ – หัวผักกาดแดง – กะเพรา – แมงลัก – หอมหัวใหญ่
– ปักชำด้วยต้น และด้วยหัว ได้แก่ หอมแบ่ง (หัว) – ผักชีฝรั่ง – กระเทียมหัว (ใช้หัวปลูก) หอมแดง (หัว) – บัวบก (ไหล) – ตะไคร้ (ต้น) สะระแหน่ (ยอด) – ชะพลู (ต้น) – โหระพา (กิ่งอ่อน) กุยช่าย (หัว) – กะเพรา (กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน) – แมงลัก (กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน)
สำหรับในผักใบหลายชนิด เช่น หอมแบ่ง ผักบุ้งจีน คะน้า กะหล่ำปี การแบ่งเก็บผักที่สดอ่อนหรือ โตได้ขนาดแล้ว โดยยังคงเหลือลำต้นและรากไว้ไม่ถอนออกทั้งต้น รากหรือต้นที่เหลืออยู่ จะสามารถงอกงาม
ให้ผลได้อีกหลายครั้ง ทั้งนี้จะต้องมีการดูแลรักษาให้น้ำและปุ๋ยอยู่
การปลูกพืชหมุนเวียนสลับชนิดหรือปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกัน และปลูกผักที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นบ้างยาวบ้างคละกันในแปลงเดียวกัน หรือปลูกผักชนิดเดียวกันแต่ทยอยปลูกครั้งละ 3-5 ต้น หรือประมาณว่าพอรับประทานได้ในครอบครัวในแต่ละครั้งที่เก็บเกี่ยว ก็จะทำให้ผู้ปลูกมีผักสดเก็บรับประทานได้ทุกวันตลอดปี
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากหนังสือ สวนผักรักษ์ไทย
หลักสำคัญของการปลูกผักสวนครัวลอยฟ้าก็คือ สวนครัวอากาศควรแขวนประมาญ 150 เซนติเมตรจากพื้นดิน เครื่องปลูกอาจจะทำขึ้นจากกาบมะพร้าว หรือมะพร้าวที่เอากะลาออกแล้วใช้ลวดตากผ้าร้อยรัดไว้ แล้วใส่เครื่องปลูก อาจใช้แกลลอนน้ำมันเครื่อง ผ่าซีก หรือกระถางดินเผาที่มีขายตามท้องตลาด เพื่อใช้ปลูกกล้วยไม้ก็ได้ ผักที่เลือกมาปลูกเป็นผักที่หยั่งรากตื้น หรือต้องเป็นผักที่มีรากลึกไม่เกิน 10 เซนติเมตร ได้แก่ ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง ผักกาดหอม ตั้งโอ๋ ปวยเล้ง หอมแบ่ง ( ต้นหอม ) ผักชี ขึ้นฉ่าย ผักโขมจีน กุยช่าย ผักชีฝรั่ง บัวบก สะระแหน่ แมงลัก โหระพา กะเพรา พริกขี้หนู ตะไคร้ และชะพลู
นอกจากนี้ควรเป็นผักที่ชอบอากาศเย็น เนื่องจากอุณหภูมิที่พืชผักเหล่านี้ได้รับ จะต่ำกว่าพืชผักที่ปลูกบนผิวดิน และภาชนะที่แขวนห้อย ในอากาศที่มีลมพัดโกรก และมีอากาศถ่ายเทความร้อนรอบตัวได้ดี และบางครั้งผู้ปลูกอาจจะปลูก ห้องปรับอากาศ ดังนั้นผักที่ปลูกในสวนครัวลอยฟ้า อาจเป็นผักนอกฤดูได้
เช่น ปวยเล้ง ตั้งโอ๋ พริกยักษ์ เป็นต้น ข้อควรระวังคือ ความชื้นของ เครื่องปลูกในภาชนะที่แขวน จะระเหยออกไปได้รวดเร็วมาก ดังนั้นจึงควรหมั่นรดน้ำ อย่างน้อยวันละ 2 เวลา
(มีข้อแนะนำในการรดน้ำต้นไม้ของสวนแขวน หากไม่ต้องการให้น้ำหยดนองพื้นอาจใช้หมวกพลาสติคที่ใช้คลุมศีรษะอาบน้ำ สรวมก้นภาชนะที่ปลูกต้นไม้ไว้ในขณะให้น้ำก่อนก็ได้)
สถานที่บางแห่งอย่างเช่น ตึกแถว บ้านทาวน์เฮาส์ ซึ่งมีเนื้อที่น้อยนิดจนคิดว่าไม่สามารถปลูกผักสวนครัวได้ แต่มีตัวอย่างที่ทำได้แล้ว เป็นสถานที่บ่มเพาะต้นกล้าที่จะนำความคิดนี้ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์บนพื้นฐานแห่งความประหยัด ความพอเพียง ด้วยการปลูกผักสวนครัวบนพื้นกอนกรีต ความคิดนี้ไม่ธรรมดาเลย แต่ได้เกิดขึ้นแล้ว ที่โรงเรียนวัดเมธังกราวาส จังหวัดแพร่ โรงเรียนวัดเมธังกราวาส ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนยอดนิยม ที่ผู้ปกครองมักจะนิยมให้บุตรหลานเข้าเรียนที่โรงเรียนนี้ และลองนึกภาพดูจะเห็นสภาพบริเวณของโรงเรียนคับแคบ ก้าวเท้าตั้งแต่ประตูโรงเรียนเข้าไป ก็จะเห็นแต่คอนกรีต ที่เทลาดเข้าไปถึงอาคารเรียน ไม่มีพื้นที่เป็นดิน เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด นั่นเป็นเพราะโรงเรียนต้องใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้เกิดประโยชน์ แต่วิชาเกษตรครูจะสอนได้อย่างไร เพราะไม่มีพื้นที่เป็นดิน แต่ที่โรงเรียนวัดเมธังกราวาส ได้ปลูกผักทั้งผักโขมจีน ผักชีลาว หอมแบ่ง ผักกาด ลงกระถาง และถุงพลาสติก นำไปวางใต้ต้นไม้กลายเป็นไม้ประดับ สวนหย่อมกินได้ และปลูกบวบ แตงร้านลงกระถาง กลายเป็นบวบ และแตงร้านลอยฟ้า สามารถตัดขาย มีเงินทุนหมุนเวียน
ด้าน นายสุระชัย รัตนากรไพบูลย์ ครูสอนวิชาเกษตร เล่าให้ฟังพร้อมกับพาไปดูผลงาน ว่า เนื่องจากสภาพพื้นที่โรงเรียนมีน้อย แต่นักเรียนต้องเรียนวิชาเกษตร และลงมือปฏิบัติจริง ถึงจะได้ความรู้ครบถ้วน จึงให้นักเรียนปลูกผักในถุงพลาสติก และกระถาง หรือเรียกให้ใกล้เคียง คือ การปลูกผักลอยฟ้า
เทคนิคการปลูกพืชผักในถุงปลูก
ขั้นตอนแรกต้องให้นักเรียนเตรียมดินปลูก ซึ่งดินปลูกโดยทั่วไปอัตราส่วนผสม ใช้ดินร่วน 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน อินทรียวัตถุ (เศษซากพืชที่แห้งและละเอียด) 1 ส่วน อย่างไรก็ตามให้สังเกตความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ดี จะมีลักษณะร่วนซุย สีคล้ำ (ดำ) หากดินแข็ง แน่น เหนียว สีออกไปทางสีอิฐหรือสีเหลืองซีด แสดงว่าดินขาดอินทรียวัตถุ และธาตุอาหารพืช ให้ลดอัตราส่วนของดินลง 1 ส่วน และควรเพิ่มปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ (EM) อีก 1 ส่วน โดยผสมดินให้ส่วนผสมคลุกเคล้าทั่วถึงกัน
ครูสุระชัย เล่าให้ฟังอีกว่า สำหรับการเลือกถุงปลูก ให้คำนึงถึงขนาดทรงพุ่มและอายุในการเก็บเกี่ยวพืชผักที่ปลูก
พืชผักที่มีทรงพุ่มแคบ และมีอายุในการเก็บเกี่ยวเร็ว เช่น ผักชี ผักกวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ผักสลัด หอมแบ่ง ผักคะน้า ให้ใช้ถุงขนาดเล็ก เช่น 4 x 5 นิ้ว หรือ 4 x 6 นิ้ว
สำหรับพืชที่มีทรงพุ่มกว้าง ใช้เวลาในการปลูกนาน เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี กะหล่ำดอก ควรใช้ถุงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ขนาด 6 x 11 นิ้ว หรือ 6 x 12 นิ้ว เพื่อสามารถบรรจุดินปลูกได้มากขึ้น และมีธาตุอาหารพืชเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช
การบรรจุดินปลูกลงในถุงปลูก ควรบรรจุดินปลูก โดยให้ดินปลูกต่ำจากปากถุงปลูก 1 เซนติเมตร ไม่ควรบรรจุดินเสมอหรือพูนสูงกว่าปากถุง เนื่องจากเวลารดน้ำจะทำให้น้ำไหลออกนอกถุง ทำให้ดินในถุงขาดความชุ่มชื้นสูญเสียธาตุอาหารพืช
นายสุระชัย เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนการเลือกพื้นที่วางถุงปลูกโดยทั่วไป พืชผักสวนครัวมีความต้องการแสงแดด อย่างน้อย 8-9 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นจึงควรเลือกพื้นที่วางถุงปลูกในที่โล่งแจ้ง ได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามพืชผักสวนครัวบางชนิด เช่น ผักขึ้นฉ่าย เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่มรำไร
การปลูกและวิธีการปลูกโดยการหว่านเมล็ด หรือหยอดเมล็ดแล้วบำรุงดูแลรักษาจนถึงวันเก็บเกี่ยว เช่น ผักบุ้งจีน ผักสลัด ผักชี ผักกาดหัว ปลูกโดยการหว่านเมล็ดแล้วแยกต้นกล้าปลูก โดยให้ต้นกล้ามีใบจริงประมาณ 3-4 ใบ โดยทั่วไปอายุของต้นกล้าที่จะนำมาปลูก ไม่ควรเกิน 30 วัน หลังจากเพาะเมล็ด เพราะจะทำให้พืชที่ปลูกใหม่ ๆ ตั้งตัวได้ช้า การเจริญเติบโตช้า
หลังจากปลูกพืชใหม่ ๆ ควรทำร่มบังแดด เพื่อให้พืชตั้งตัวได้เร็วขึ้น ในกรณีที่ไม่สามารถทำร่มบังแดดให้ได้ ให้รดน้ำบ่อย ๆ โดยรดน้ำในเวลาเช้า-กลางวัน-เย็น หรือจะตัดใบพืชออกครึ่งหนึ่งก็ได้ เพื่อลดการคายน้ำ ป้องกันต้นกล้าที่ปลูกใหม่เหี่ยวเฉา และควรปลูกพืชถุงละ 1 ต้น เพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้เต็มที่
พืชที่ปลูกโดยการหว่านเมล็ด แล้วแยกต้นกล้าปลูก ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักขึ้นฉ่าย ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง กะหล่ำดอก บรอกโคลี สลัดแก้ว มะเขือ ปลูกโดยการปักกิ่งชำ ได้แก่ กะเพรา โหระพา ต้นแมงลัก ผักไผ่ สะระแหน่ โดยการนำกิ่งพืชเหล่านี้มาปักชำลงในถุงปลูก ให้ความชุ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ในระยะปักชำใหม่ ๆ ควรวางไว้ในที่ร่มรำไร ประมาณ 10-15 วัน เมื่อกิ่งแตกราก และแตกใบอ่อนยอดอ่อน จึงนำมาไว้กลางแจ้งจนกระทั่งออกผลผลิต
นับว่าเป็นความคิดที่ดี ซึ่งผักที่ปลูกสามารถตกแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงาม และเมื่อออกผลผลิตยังสามารถนำไปจำหน่ายได้อีกด้วย ที่สำคัญเป็นการเดินตามรอยพ่อแห่งแผ่นดิน ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการทำให้เด็กนักเรียนได้เห็น รู้จักใช้สิ่งต่าง ๆ มาดัดแปลงให้ประหยัด และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
อ่านเรื่องอื่น ๆ
6ดี วิธีง่ายๆ ปลูกทุเรียน รับความมั่งคั่ง
ย้อนรอย ถาดหลุม ภาชนะใส่อาหารที่คุณคุ้นเคย