วัดไชยวัฒนาราม โบราณสถาน กับเมรุทิศ – เมรุราย สถาปัตยกรรมรูปแบบพิเศษเพียงหนึ่งเดียว
เนื่องจากเป็นเมืองเก่า ยุคต้นๆ ของการก่อร่างสร้างประเทศไทย วัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงมักผูกพันกับประวัติศาสตร์อยู่เสมอ อย่าง วัดไชยวัฒนาราม แห่งนี้ ที่สร้างขึ้นเพื่อถวายพระราชชนนี สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเฉลิมพระเกียรติพระองค์ที่มีชัยชนะต่อการรบกับเขมร
วัดไชยวัฒนารามตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตก นอกเกาะเมืองอยุธยา ใน ต.บ้านป้อม อ. พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดไชยาราม” และ “วัดไชยชนะทาราม” เป็นพระอารามหลวงสมัยอยุธยา สร้างขึ้นในปี 2173 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยทรงสถาปนาเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี ณ บริเวณที่ดินที่ซึ่งเป็นนิวาสสถานของพระราชชนนี
วัดไชยวัฒนาราม ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
วัดไชยวัฒนาราม แม้หนึ่งในปัจจัยการสร้าง จะสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติที่พระเจ้าปราสาททองมีชัยชนะเหนือเขมร แต่สถาปัตยกรรม ตลอดจนแผนผังรูปแบบการก่อสร้างล้วนแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลความเชื่อในแบบเทวราชาของขอม โดยมีสถาปัตยกรรมหลักๆ คือ กลุ่มปรางค์ 5 องค์, ระเบียงคด, เมรุทิศ – เมรุราย เป็นต้น ส่วนรายละเอียดสถาปัตยกรรมเหล่านี้ ด้วยผมไม่ใช่ผู้รู้ เป็นแต่เพียงคนไปชมแล้วนำมาเล่า จึงขอยกข้อมูลจากป้ายที่ติดอธิบายไว้ภายในวัดมาละกันครับ เพื่อจะไม่ได้ไม่มีการคลาดเคลื่อน
จิตรกรรมฝาผนังวัดไชยวัฒนาราม
จิตรกรรมฝาผนังภายในวัดไชยวัฒนาราม เป็นภาพเขียนสีประดับตกแต่งตามผนัง เสา ทับหลังประตู และซุ้มประตูด้านในของเมรุทิศ ทั้ง 8 องค์ นอกจากนั้นยังพบภายในซุ้มคูหาเรือนธาตุของเมรุทิศมุมตะวันตกเฉียงใต้ ลวดลายที่เขียนประกอบไปด้วย ลายพันธุ์พฤกษาประดิษฐ์เป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายหน้ากระดาน และลายก้นขด ซึ่งส่วนใหญ๋ลวดลายจะคล้ายคลึงกับลายปูนปั้นประดับฐานชุกชีของพระพุทธรูปประจำเมรุทิศ และเมรุมุมทั้ง 8 องค์ สีที่ใช้ในการเขียน มี 3 สีหลัก คือ สีแดง สีดำ และสีเขียว
ระเบียงคด
ลักษณะเป็นแนวกำแพงก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ล้อมรอบพระปรางค์ประธาน และสร้างหลังคาคลุมทางเดินประทักษิณเชื่อมต่อระหว่างเมรุแต่ละองค์ โดยหลังคาของระเบียงคดจะสอดเข้าใต้มุขของเมรุ ระเบียงคดมีผนังเฉพาะด้านนอกเป็นผนังทึบทำเสาติดผนังแบ่งออกเป็นห้อง แต่ละห้องเจาะช่องหน้าต่างหลอกโดยทำเสาเป็นลูกกรงเลียนแบบช่องหน้าต่างลูกมะหวดแบบสถาปัตยกรรมเขมร ตามแนวระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นหันพระพักตร์เข้าสู่องค์พระปรางค์ประธานโดยรอบจำนวน 120 องค์
พระอุโบสถ
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกนอกระเบียงคด ปัจจุบันปรากฏหลักฐานเหลืออยู่เพียงส่วนฐาน มีลักษณะเป็นฐานก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขหน้า – หลัง ตั้งอยู่บนชาลา ซึ่งก่อฐานบัวลูกแก้วอกไก่ยกระดับพื้นให้สูงขึ้น มีบันไดทางขึ้นชาลาด้านหน้า – หลัง ด้านละ 2 บันได มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีเสาตั้งรับชายคาปีกนก ภายในอาคารด้านทิศตะวันตกปรากฏฐานชุกชีก่ออิฐ ทำเป็นฐานสิงห์ซ้อนกันสองชั้น ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายปางสมาธิ รอบอุโบสถปรากฏร่องรอยฐานเสมาจำนวน 8 ทิศ สันนิษฐานว่าลักษณะของอุโบสถเมื่อสมบูรณ์คล้ายกับอุโบสถวักหน้าพระเมรุ
เมรุทิศ – เมรุราย
ตั้งอยู่รายล้อมปรางค์ประธานตามแนวทิศ 8 ทิศ ลักษณะเป็นอาคารทรงปราสาทยอดปรางค์ สร้างเป็นอาคารซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 7 ชั้น มีแนวระเบียงคดเชื่อมต่อระหว่างเมรุแต่ละองค์โดยรอบ ภายในคูหาของเมรุทุกองค์ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องประดับนั่งปางมารวิชัย ปรากฏร่องรอยจิตรกรรมฝาผนังอยู่ภายใน
เมรุเหล่านี้เรียกชื่อตามตำแหน่งที่ตั้งทิศแกนหลักว่า “เมรุทิศ” ส่วนในบริเวณมุมแต่ละด้านซึ่งเป็นทิศรองนั้น เรียกว่า “เมรุราย” ซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบพิเศษที่นำมาสร้างเป็นศาสนสถาน พบที่วัดไชยวัฒนารามเพียงแห่งเดียว อาจจะได้รูปแบบมาจากพระเมรุพระบรมศพพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาซึ่งโดยปกติสร้างด้วยไม้
พระปรางค์ประธาน
เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลาของวัด ลักษณะเป็นปรางค์จตุรมุข ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสูง ส่วนฐานของปรางค์ก่อเป็นฐานบัวลูกฟักซ้อนกันสามชั้นรองรับเรือนธาตุ มีบันไดทางขึ้นสู่มุขทั้งสี่ด้าน หลังคามุขทั้งสี่ด้านเป็นมุขลดสามชั้น ซุ้มหลังคาประดับมุขยังคงปรากฏร่องรอยปูนปั้นเป็นลอน เลียนแบบกระเบื้องกาบกล้วย หน้าบันมุขทุกชั้นทำซุ้มทรงบันแถลงประดับ ยอดของปรางค์ทำเป็นชั้นรัดประคดซ้อนกัน 7 ชั้น ส่วนบนสุดขององค์ปรางค์ เป็นทรงดอกบัวตูมตั้งประดิษฐานนภศูล
องค์ปรางค์ประธานนี้ สร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22 แต่ระเบียบการก่อสร้างและทรวดทรงปรางค์เป็นแบบสมัยอยุธยาตอนต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นการนำรูปแบบของพระปรางค์ที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นมาก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง
อ่านเรื่องอื่น ๆ
มหัศจรรย์ โพธิ์สีชมพู แห่งวัดโพธิ์ทอง พิจิตร
ปริวาสกรรม ความเชื่อเรื่องบุญ ในขณะพระสงฆ์ถูกลงโทษ