โดนไถเงิน จนต้องกินน้ำก็อก
เรื่องนี้เป็นเรื่องของคุณแม่ท่านหนึ่งที่มาเล่าประสบการณ์ลูกถูกรังแกในโรงเรียนอีกรูปแบบหนึ่งให้เราฟังค่ะ เป็นเรื่องลูก โดนไถเงิน
“ลูกเล่าว่า ข้าวที่เราห่อให้ไปทุกวัน ลูกก็กิน แต่บางวันเพื่อนเห็นกับข้าวลูกน่ากินกว่าก็มาขอเปลี่ยน ซึ่งของเพื่อนบางทีลูกกินไม่ได้ ก็ทิ้ง
ส่วนเรื่องค่าขนมที่เราให้ไปโรงเรียน เขาแทบไม่ได้เอาไปซื้ออะไรเลย เพราะพอถึงเวลาใกล้พักกลางวัน เพื่อนคนเดิมก็จะมาขอไปซื้อขนมของตัวเอง เพื่อนบอกว่า เพื่อนตัวใหญ่กว่า หิวกว่า กินข้าวไม่อิ่ม ต้องกินขนมตามเยอะๆ แล้วตังไม่พอ ลูกเราเลยเอาเงินค่าขนมของตัวเองให้เพื่อนทุกวัน ส่วนถ้าตัวเองหิวบางทีก็กินน้ำก๊อกให้อิ่มท้อง
ลูกเล่าอีกว่า บางทีก็ไม่ได้เต็มใจให้ แต่เพื่อนงอแงอาละวาด โกรธใส่ถ้าไม่ยอมให้เงิน และเคยตบหัวด้วย ทำให้ลูกไม่อยากมีปัญหากับเพื่อน เพราะกลัวเจ็บตัวอีก อีกอย่าง ลูกคิดว่าตอนบ่ายเดี๋ยวครูก็แจกนมโรงเรียน ก็พอจะรองท้องได้ ไม่เป็นไร
เราฟังแล้วโกรธและสงสารลูกจนน้ำตาไหล โกรธลูกตัวเองที่ไม่ปกป้องตัวเอง และสงสารที่กว่าแม่จะรู้เรื่อง ลูกโดนไถ.เงินมาเกือบทั้งเทอมไปแล้ว
คราวนี้เราไม่รอครูแล้ว เราไปโรงเรียนตอนกลางวันเลย รอเจอเพื่อนลูกคนที่ไถเงินลูก และพูดกับเขาตรงๆ ว่าอย่าทำแบบนี้อีก ถ้าป้ารู้ว่ามาไถเงินลูกป้าอีก ป้าจะเอาเรื่องนี้ไปบอกครู แล้วตามพ่อแม่หนูมาที่โรงเรียนด้วย เด็กก็ยกมือไหว้ขอโทษ
หลังจากนั้น ปิดเทอม เราฟื้นฟูสุขภาพจิตลูก และตั้งใจว่า เทอมสองนี้เราจะเป็นคนเอาข้าวไปให้ลูกที่โรงเรียนทุกกลางวัน เฝ้าจนกว่าลูกจะซื้อขนมที่ตัวเองต้องการและได้กินจริงค่อยกลับบ้าน อาจจะมีวิธีอื่นดีกว่านี้แต่ตอนนี้คิดได้แค่นี้”
นอกจากการถูกไถเงินแล้ว เด็กคนนี้ยังถูกกลั่นแกล้งทำร้ายจิตใจด้วยวิธีอื่นอีกอย่าง นั่นคือมักถูกเพื่อนคนเดียวกันนี้ให้งานให้ไปทำสิ่งต่างๆ ให้ ใช้ให้ไปตักน้ำ ไปหยิบของให้
หรือหนักข้อที่สุดคือให้เอาเงินค่าขนมของตัวเองไปซื้อขนมหรือของที่ต้องการมาให้ ซึ่งมีทั้งขนม ดินสอ ยางลบ หรืออื่นๆ มีขายอยู่ในสหกรณ์โรงเรียนมาให้
ต่อหน้าเพื่อนๆ เด็กยังถูกล้อเลียน ถูกตั้งฉายาที่ทำให้อับอาย โดยถ้าเถียงหรือพยายามพูดโต้ตอบเพื่อไม่ให้รังแกต่อ หรือไม่ยอมไปซื้อของให้ ก็จะถูกตบหัว ถูกต่อยท้อง หรือเอาของใช้เช่นรองเท้า ไปโยนออกนอกหน้าต่างห้องเรียน ถูกบังคับให้กินชอล์กที่ครูใช้เขียนกระดาน
เคยมีเพื่อนที่พยายามช่วยเหลือ เข้าข้าง ก็กลายเป็นเหยื่อรายต่อไป ถูกทำร้ายร่างกายไปด้วย และสู้ไม่ได้ เพราะเด็กที่รังแกตัวใหญ่ แรงเยอะ และมีเพื่อนสนิทที่คอยช่วยเหลือกันรังแกคนอื่น ตอนหลังจึงไม่มีเพื่อนคนไหนในห้องกล้ายื่นมือออกมาช่วยเหลือ เพราะกลัวว่าจะถูกรังแกไปด้วย
ทางออกกลั่นแกล้งการ โดนไถเงิน
การกลั่นแกล้งระหว่างนักเรียนที่อยู่ในวัยเดียวกันนั้น มีหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็จะมีผลดีผลเสียต่างกันไป แต่จะใช้วิธีไหนนั้นอาจต้องลองพิจารณาอีกทีว่าแบบไหนถึงจะเหมาะกับตัวเด็กและเหมาะกับสถานการณ์มากที่สุด
- เพิกเฉย ไม่แสดงท่าทีว่าเจ็บปวด เสียใจ ต่อการกระทำที่ผู้รังแกทำต่อเรา ใช้ได้ดีในกรณีที่ผู้รังแกเพียงต้องการแสดงอำนาจทำร้ายจิตใจ ล้อเลียน หรือใช้ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความเสียหาย เมื่อร้ายจิตใจเราไม่สำเร็จคนที่รังแกก็อาจเลิกสนใจเราไปเองเพราะหมดสนุก
- หลีกเลี่ยง คือการหลีกเลี่ยงบุคคลหรือสถานการณ์ที่จะทำให้ถูกรังแก
- ต่อสู้กลับหากถูกทำร้ายร่างกาย เพื่อให้ผู้รังแกรู้ว่าเราจะไม่ยอมให้รังแกฝ่ายเดียว แต่วิธีนี้หากอีกฝ่ายใช้ความรุนแรงมากขึ้นอาจเกิดอันตรายได้ และอาจต้องเตรียมพร้อมหากต้องถูกลงโทษทั้งสองฝ่าย
- แจ้งผู้ที่รับผิดชอบ เช่น ครูประจำชั้น หรือผู้ใหญ่ที่เชื่อใจได้ว่าจะปกป้องเรา
- ไม่ฟ้องแต่พยายามอยู่ในสายตาครูที่จะปกป้องเราได้เสมอ
- หาพันธมิตรหรือเพื่อนสนิทในโรงเรียนเพื่อต่อกรหรือป้องกันการกลั่นแกล้ง
- สร้างผลประโยชน์ร่วมกัน หรือเอาศัตรูเข้ามาเป็นพวกเราเพื่อให้เลิกรังแก
ทุกข้อที่กล่าวมามีทั้งข้อดีและข้อเสีย การให้โอกาสเด็กได้ลองค้นหาวิธีการที่เหมาะกับตัวเองจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด แต่กระนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเด็กจะต้องรู้และเข้าใจคุณค่าของร่างกายและจิตใจตนเอง ตระหนักว่าเราต้องปกป้องตัวเองไม่ยอมให้ใครมาละเมิดได้ และที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลาที่เขาต้องเรียนรู้นั้น เด็กต้องมีพื้นที่ปลอดภัย คอยปกป้องไม่ให้เขาได้รับอันตราย พร้อมยื่นมือช่วยเหลือ สนับสนุน และอยู่เคียงข้างเขาอย่างเข้าใจเสมอ และคนที่สำคัญที่สุดคือครอบครัวหรือผู้ปกครองนั่นเอง
โดย นทธี ศศิวิมล
อ่านเรื่องอื่น ๆ
เมื่อสังคมรุมข่มขืนฉัน ทางออก กลั่นแกล้ง ว่าด้วยการถูกกระทำซ้ำ