ซากศพสีฟ้า : เมื่อผู้ที่ควรปกป้องกลายเป็นผู้กลั่นแกล้ง

ซากศพสีฟ้า : เมื่อผู้ที่ควรปกป้องกลายเป็นผู้กลั่นแกล้ง ท่านที่ได้ติดตามอ่านผลงานของนักเขียนนาม โอตสึ อิจิ นักเขียนนวนิยายแนวลึกลับ สยองขวัญ และอ่อนโยนระคนเศร้าจนขึ้นแท่นเป็นนักเขียนในดวงใจผู้อ่านจำนวนมากมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะสังเกตเห็นได้ไม่ยากว่า นักเขียนท่านนี้ได้พูดถึงการกลั่นแกล้งในรูปแบบต่างๆ อยู่เสมอ มักให้ความสำคัญกับการบอกเล่าถึงเรื่องราวการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นกับใครบางคนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน 

มันเริ่มเกิดขึ้นได้อย่างไร ดำเนินไปอย่างเลวร้ายแค่ไหน และมีจุดจบอย่างไร ดีบ้าง เลวบ้าง อย่างที่เกิดขึ้นจริงๆ ในสังคม

หนังสือนวนิยายที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “ซากศพสีฟ้า” นี้ก็เช่นกัน

หนังสือนิยายขนาดสั้นแต่หนักอึ้งสุดบีบคั้นสะเทือนอารมณ์ เล่มนี้ได้รับการแปรรูปเป็นภาพยนตร์และหนังสือการ์ตูนมาแล้ว โดยในเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของมาซาโอะ นักเรียนชายชั้นประถมห้าที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออกและไม่ชอบกีฬาคนหนึ่ง ถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณทั้งต่อร่างกายและจิตใจ จากผู้ที่มีหน้าที่ปกป้องดูแลนักเรียน โดยตรงอย่างครูประจำชั้น

การกลั่นแกล้งในที่สาธารณะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยครูพยายามหาแพะรับปาบให้กับเรื่องต่างๆ ในชั้นเรียน โดยการใส่ร้าย แสร้งทำให้ทุกคนทั้งนักเรียนและครูคนอื่นๆ เข้าใจว่า มาซาโอะ (เด็กป.5) เป็นที่มาของเรื่องเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น พยายามทุกวิถีทางเพื่อจะค้นหาคำตอบว่าเพราะอะไรตนถึงตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้ง รังแก ใส่ร้ายอยู่เสมอ มาซาโอะทำให้ตัวเองเป็นปัญหาน้อยที่สุดแล้ว แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ปัญหาถูกกลั่นแกล้งกลับยิ่งบานปลาย

มาซาโอะรวบรวมความกล้าพูดกับครูตรงๆ แต่กลับถูกทำร้ายจิตใจอย่างหนักและถูกข่มขู่ให้กลัวจนจิตใจภายในได้รับความเสียหายรุนแรง ถูกห้ามไม่ให้เล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง

เพื่อนที่ปกติก็มีอยู่น้อยนิดเริ่มตีตัวออกห่าง อาจเพราะไม่อยากกลายเป็นเป้าของการถูกรังแกไปด้วย กระนั้น ดูเหมือนมาซาโอะคิดว่าตนยังมีโชคอยู่บ้าง ที่มีสถานที่ปลอดภัยอย่าง “บ้านและครอบครัว” ที่สว่างไสว ปลอดภัย และอบอุ่น ราวกับอยู่คนละโลก ดังนั้นเพื่อรักษาโลกใบนี้เอาไว้ มาซาโอะจึงไม่ยอมเล่าเรื่องนี้ให้คนในครอบครัวที่เขารักฟัง ซึ่งนั่นยิ่งทำให้บาดแผลทางใจของมาซาโอะยิ่งอักเสบเรื้อรังล้ำลึกลงเรื่อยๆ

ในขณะที่การกลั่นแกล้งเลวร้ายจนถึงจุดที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเหมือนกำลังตกลงในขุมนรก มาซาโอะเกิดมองเห็นเด็กประหลาดคนหนึ่งที่มีใบหน้าสีฟ้า ร่างกายผิดปกติ ริมฝีปากถูกเย็บเข้าหากัน และใส่เสื้อสำหรับผู้ป่วยจิตเวช ปรากฏตัวขึ้นใกล้ๆ และมีเพียงมาซาโอะที่มองเห็น เด็กคนนั้นถูกเรียกว่าอาโอะ เป็นผู้ที่เข้าใจความเจ็บปวดทั้งกายใจของมาซาโอะเป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่แนะนำให้มาซาโอะหาวิธีออกจากนรกขุมนี้

“ฆ่าครูซะ!” อาโอะว่า

แล้วเรื่องราวหลังจากนั้นก็ดำเนินไปอย่างระทึกขวัญชวนติดตามจนคนอ่านหายใจไม่ทั่วท้อง (หลังจากหายใจไม่ทั่วท้องมาตั้งแต่ต้นเรื่อง)

Image by Janko Ferlic from Pixabay

ทางออกกลั่นแกล้ง

เรื่องที่ใครมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างการล้อเลียน ถูกทำให้เป็นตัวตลกในห้องเรียน เกิดบานปลายกลายเป็นการวางแผนฆาตกรรมครูไปได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้ที่ไม่เคยถูกกลั่นแกล้งมาก่อนอาจคาดคิดไม่ถึง

แต่ในเด็กที่ถูกรังแกจากผู้ที่สังคมมอบอำนาจเหนือกว่า เด็กย่อมหวาดกลัว เครียด กังวล โดยเฉพาะเด็กที่มีจิตใจอ่อนโยน อ่อนไหวง่าย ไม่มั่นใจในตนเอง ยิ่งหากถูกข่มขู่ เด็กก็จะยิ่งทำอะไรไม่ถูกไม่กล้าบอกเล่าให้ใครฟังเพราะกลัวว่าตนจะยิ่งไปทำให้เรื่องราวเลวร้ายขึ้นอีก กลัวว่าผู้คุมอำนาจสูงสุดในห้องเรียนอย่างครู อาจลงโทษหรือทำอย่างอื่นที่เลวร้ายกว่าที่เคยทำมา 

ความเครียด ความเจ็บปวด กดดัน จากการทำให้อับอาย การถูกใส่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม และการลงโทษอย่างเกินความเหมาะสม ทำร้ายและทำลายทั้งพัฒนาการตามวัย รวมถึงพัฒนาการทางอารมณ์ เด็กที่ถูกหลอมสร้างด้วยแม่พิมพ์ที่บิดเบี้ยวย่อมมีแนวโน้มของความผิดปกติ ส่วนใหญ่มักเหลือตกค้างในใจไปตลอดชีวิต บางรายอาจมากจนถึงกับก่อให้เกิดอาการทางจิตเวช

นิยาย ซากศพสีฟ้า เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่เขียนขึ้นมาโดยการจินตนาการเกินจริงแต่อย่างใด เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง หากครอบครัว และคนรอบข้างยังไม่ให้ความสำคัญกับการถูกกลั่นแกล้งและหาทางออกร่วมกัน 

Image by Kanenori from Pixabay

ในส่วนของครอบครัว นอกจากการดูแลจิตใจและร่างกายของเด็กตามปกติแล้ว การฝึกให้เด็กรู้จักคุณค่าของตนเอง ฝึกการถ่ายทอดบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก และแบ่งปันเรื่องราวที่เกิดขึ้นนอกบ้านให้คนในครอบครัวฟังอยู่เสมอ ก็จะทำให้เด็กรู้สึกอุ่นใจ มีที่พึ่ง เวลาที่ถูกรังแก กลั่นแกล้งหรือมีปัญหาอื่นๆ เขาก็จะกล้าบอกกล้าพูด และช่วยกันสกัดกั้นปัญหาก่อนที่จะบานปลายได้

อย่างไรก็ดี การคัดสรรผู้ที่จะมาทำหน้าที่ดูแลเด็กๆ ในโรงเรียนก็ถือเป็นเรื่องสำคัญในเชิงนโยบาย ที่ผู้บริหารและผู้มีอำนาจควรให้ความใส่ใจมากที่สุด เพราะเป็นผู้ที่ต้องใกล้ชิดเด็กตลอดเวลา ควรเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องการดูแลเด็ก จิตวิทยาเด็ก และมีควรใจรักในอาชีพที่จะต้องอยู่กับเด็กได้ตลอดทั้งวันอีกด้วย

โดย นทธี ศศิวิมล


อ่านเรื่องอื่น ๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจกลั่นแกล้ง

รู้จัก Karen “มนุษย์ป้า” ฝั่งตะวันตก

รู้จัก Karen “มนุษย์ป้า” ฝั่งตะวันตก

เมื่อสังคมรุมข่มขืนฉัน ทางออก กลั่นแกล้ง ว่าด้วยการถูกกระทำซ้ำ

You may also like...