“ไอ้เด็กไม่มีพ่อ ไอ้เด็กไม่มีแม่” หากคุณโดน บูลลี่ อย่างนี้ คุยกับ ‘กุ๊ชโฉ่’ สิ

“ไอ้เด็กไม่มีพ่อ ไอ้เด็กไม่มีแม่” หากคุณโดน บูลลี่ อย่างนี้ คุยกับ ‘กุ๊ชโฉ่’ สิ

ชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชนเป็นทุนเดิม เมื่อเปิดอ่านหนังสือเรื่อง ‘กุ๊ชโฉ่’ เพียงหน้าแรก ก็ต้องทำให้ปิดหนังสือ ย้อนอ่านชื่อรางวัลที่หนังสือได้รับอีกครั้ง เพราะตอนได้หนังสือมาเปิดอ่านชื่อรางวัลเพียงผ่าน ๆ เมื่ออ่านหนสองจึงรู้ว่า คือ รางวัลเรือกลไฟ ของประเทศสเปน ซึ่งสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่านคัดสรรให้เป็นหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน ซ้ำกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาวิชาภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น อีกด้วย เมื่ออ่านชื่อรางวัลจบ คำถามเกิด …แล้วผมไปอยู่ไหนมา เหตุใดสมัยมัธยมไม่เคยรู้จัก เพิ่งได้อ่านครั้งแรกก็เมื่อลูกชายคนโต จะเข้าเรียนมัธยมอีก 1 ปีข้างหน้าแล้ว

 กุ๊ชโฉ่ แม้เป็นวรรณกรรมเยาวชน แต่เหมาะกับผู้ใหญ่ทุกวัย เพราะเรื่องนี้ว่าด้วยการชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะด้อย หรือเด่น จน หรือรวย คุณก็ล้วนตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้ง หรือ บูลลี่ Bullying ทั้งสิ้น โดยเนื้อเรื่องเล่าผ่านมุมมองของเด็กประถมร่างใหญ่ นิสัยดี กตัญญู แต่ยากจน นามว่า ‘กุ๊ชโฉ่’ ชื่อเดียวกับหนังสือ

กุ๊ชโฉ่เป็นเด็กชายกำพร้า อาศัยอยู่กับย่า ในตึกเก่า โทรม ใกล้ถูกทุบพอ ๆ กับย่าที่ชรา ตาพร่ามัว ขาอ่อนแรงเดินลำบาก ซ้ำไม่มีอาชีพ แม้จะเคยเป็นช่างตัดเสื้อ ทว่าตาที่มองอะไรไม่ค่อยเห็น เอาขากางเกง มาต่อเป็นแขนเสื้อบ่อยครั้ง สุดท้ายลูกค้าก็หายเกลี้ยง

Image by Milena Mazurek from Pixabay

 ‘กุ๊ชโฉ่ไปโรงเรียนเช่นเดียวกับเด็กทั้งหลาย เขาไม่รู้ว่าทำไมตัวเองจึงไม่มีพ่อไม่มีแม่ แต่ในเมื่อเด็กอื่น ๆ ก็ไม่รู้ว่า เหตุใดพวกเขาจึงไม่มีย่า กุ๊ชโฉ่ก็เลยคิดว่ามันคงเหมือนกันนั่นแหละ’…นี่คือประโยคที่แอดอ่านแล้ว ต้องปิดหนังสือเพื่อย้อนดูรางวัลตรงหน้าปกอีกครั้ง เพราะการเริ่มต้นอย่างนี้ คนเขียนต้องการสื่อให้คนอ่านเห็นแง่มุมของการอยู่ร่วมกัน และการกลั่นแกล้งอย่างแน่นอน

กุ๊ชโฉ่ อยู่กับย่า พวกเขายากจน ทุก ๆ วัน กุ๊ชโฉ่ จะรับแซนด์วิชแข็ง ๆ เหลือ ๆ ของเพื่อนในชั้นเรียนไปให้ย่า ทั้งคู่มีชีวิตรอดกับขนมเหลือเหล่านี้ แต่กุ๊ชโฉ่ก็มีวิธีเปลี่ยนแปลงขนมเหลือ ๆ แข็ง ๆ ให้กลายเป็นของอร่อยได้ โดยบอกว่า “ย่าไม่ชอบกินรสนี้” วันรุ่งขึ้นเพื่อนจะนำขนมรสชาติอื่น ๆ มาให้ทันที มองเหมือนกุ๊ชโฉ่ เจ้าเล่ห์ แต่เขาซื่อสุด ๆ การรับขนมเหลือจากเพื่อน เป็นไปแบบ winwin เนื่องด้วยเพื่อนกินไม่หมด การมอบให้กุ๊ชโฉ่ จึงเป็นเรื่องดี เพราะพ่อแม่ชมว่ากินเก่ง กลับกลายเป็นว่า ถ้ากุ๊ชโฉ่ ไม่รับขนมเหลือของใคร คนนั้นจะเดือดร้อน

อ่านเรื่องนี้ ทำให้คิดถึงคำกล่าวหนึ่ง “เรื่องที่เกิดกับเราดีกับเราเสมอ” ในหนังสือกุ๊ชโฉ่ ตอบคำนี้ได้ดี เพราะไม่ว่าจะมีเรื่องร้าย ๆ เข้ามาหากุ๊ชโฉ่และย่าเท่าไหร่ สุดท้ายถ้าสู้มันต่อไปอย่างตั้งใจ และจริงใจ เข้มแข็ง เรื่องร้ายนั้นจะพ่ายแพ้ เปิดทางให้สิ่งดี ๆ เข้ามาแทน เช่น ย่ามองไม่ชัด ทำให้เย็บผ้าไม่สวย แต่ผู้จัดการวงดนตรีกลับมองว่าสวย จ้างให้ตัดเสื้อในราคาแพง ย่าและกุ๊ชโฉ่ใช้เงินอย่างฟู่ฟ่า แต่แล้วผู้จัดการคนนั้นก็หายไป ทำให้ย่าหลานต้องตกระกำลำบากอีกคำรบ หรือแซนด์วิชที่เคยได้รับจากเพื่อน อยู่ ๆ ครูใหญ่ก็ไม่ให้รับ กุ๊ชโฉ่ต้องไปทำงานพิเศษขายของ กระทั่งมีเงินใช้ไม่ขาดมือ แต่แล้วก็ถูกยึดกิจการไป เรื่องราวของกุ๊ชโฉ่ เป็นอย่างนี้ มีขึ้น มีลง แต่เขาก็ยังแน่วแน่ แม้เขาเด็ก ทว่ามีกัลยาณมิตรที่ดีควรช่วยเหลือ เพื่อน ๆ ของเขาล้วนเป็นคนเงินน้อย แต่ไม่ด้อยปัญญา ทำให้คิดว่า หากเราอยู่ท่ามกลางวิญญูชน อย่างไรซะหนทางของการก้าวหน้าก็มาหาเรา

Image by Veronika Andrews from Pixabay

สหายของกุ๊ชโฉ่ล้วนถูกกลั่นแกล้งจากระบบ ไม่ว่าจะเป็นคนเป่าปี่ไร้ประสิทธิภาพ คนขายของแบกะดิน หรือแม้กระทั่งลูกสาวของเจ้าของร้านเบเกอร์รี่แสนสวยและร่ำรวย ก็ถูกกลั่นแกล้ง bullying ว่าเธอทำอะไรก็กระแดะ ในภาษาของกุ๊ชโฉ่ คือ โอเวอร์ ทั้ง ๆ ที่เปล่าเลย คนอื่นต่างหากที่อิจฉาและหาว่าเธอกระแดะ

สุดท้ายแม้เรื่องนี้จะจบแบบสมหวัง แต่เรื่องราวการต่อสู้ของเด็กคนหนึ่ง ย่าชราอีกคนหนึ่ง ก็สอนให้เราเข้าใจชีวิตว่าอย่ายอมแพ้ ความดีจะพิสูจน์เรา ดังคำที่ย่าของกุ๊ชโฉ่สอนว่า “พระเจ้าอาจจะบีบคั้น แต่ไม่เคยทำให้ใครถึงตาย”

 ฉะนั้นวรรณกรรรมเยาวชนเรื่องกุ๊ชโฉ่ จึงเหมาะทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีมุมมองที่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ควรเห็น เฉพาะการยืนหยัดมุ่งมั่นทำดี เพื่อได้ดีตอบแทน ก็เพียงพอแล้วสำหรับหนังสือเล่มนี้ แต่หากอ่าน คุณจะพบมากกว่าที่ย่อหน้านี้สรุปบอก ส่วนตัวแอดเสียดายที่เพิ่งได้อ่าน

ข้อมูลหนังสือ

  • กุ๊ชโฉ่ CUCHO
  • เขียนโดย โฆเซ่ หลุยส์ โอไลยโซล่า
  • แปลโดย รัศมี กฤษณมิษ
  • พิมพ์ครั้งที่ 11
  • จัดจำหน่ายโดย รัศมี กฤษณมิษ


อ่านเรื่องอื่น ๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจกลั่นแกล้ง

โดน บูลลี่เมื่อรักและเชื่อใจ ทำให้ฉันกลายเป็นคนใจง่าย

อย่าปล่อยให้การกลั่นแกล้งกลายเป็น ล่วงละเมิดทางเพศ

ซากศพสีฟ้า : เมื่อผู้ที่ควรปกป้องกลายเป็นผู้กลั่นแกล้ง

You may also like...