นราธิวาส Hornbill ในป่า ฮาลา-บาลา

พอรู้ว่าผมพื้นเพอยู่จังหวัดนราธิวาส ประเด็นการพูดคุยต้องมีคำถามว่า “อันตรายไหม คนที่นั่นอยู่อย่างไร?” ผมตอบอย่างยิ้มแย้มเสมอว่า “ปกติครับ เวลาผมอยู่ในพื้นที่ตีสองตีสามยังบึ่งมอเตอร์ไซค์ออกไปหาเหล้ากินที่ตลาดกันสบายใจเลย ตัวเมืองนราธิวาสเองบางคืนวันเสาร์ยังมีแก็งเด็กแว้นซิ่งป่วนยันตีหนึ่ง ก็มีบ้างแหละจุดที่อันตราย ก็ต้องระวังตัว แต่กรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรนี่สิ นั่งรถเมล์เฉยๆ ก็มีสิทธิ์ถูกกระสุนหลงของเด็กช่างได้” ทุกที่มีอันตราย แต่ก็ยอมรับว่าสามจังหวัดดูน่ากลัว ดูน่ากลัวจนกลบความงามไปหมด อย่างผืนป่า ฮาลา-บาลา ที่ผมจะหยิบมาเล่าในฉบับนี้

ฮาลา-บาลา เป็นป่าผืนสุดท้ายปลายด้ามขวานซึ่งเป็นป่าดงดิบชื้น หรือป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rain Forest) ในคาบสมุทรมลายูที่มีความสมบูรณ์โดดเด่นและมีค่ายิ่ง ด้วยลักษณะสังคมพืชที่แตกต่างจากป่าดงดิบอื่นที่พบในประเทศไทย ลักษณะพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพันธุ์ไม้สำรวจพบใหม่และพบที่เดียวในโลก เช่น ใบไม้สีทอง และเป็นแหล่งกำเนิดของ ‘ดาหลาดอกขาว’
ฮาลา-บาลาเป็นป่า 2 ส่วน คือ ฮาลาอยู่ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และบาลา อยู่ในเขตอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส สิ่งสวยงามในฮาลา-บาลาที่นำมาเล่าในฉบับนี้ คือ นกเงือก ในส่วนของ อ.แว้ง จ.นราธิวาส

นกเงือกอาศัยอยู่ในไทย 13 ชนิด สามารถพบที่ ฮาลา-บาลา ถึง 10 ชนิด แล้วการส่องนกเงือกของที่นี่ก็ใช่ว่าต้องบุกป่าฝ่าดงลำบากลำบนแต่อย่างใด แค่ขับรถไปตามถนนลาดยาง เข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แล้วไปจอดแอบๆ ไว้ใกล้ๆ จุดชมสัตว์เท่านั้นเอง นั่งแทะเมล็ดแตงโมเพลินๆ ไม่นานนัก เดี๋ยวนกเงือกก็ส่งเสียงร้องก้องป่ามาให้ได้ยิน แล้วค่อยถลาลมมาเกาะกินผลไม้ให้ถ่ายภาพอย่างจุใจ ถ้ามาถูกจังหวะ เช่น ช่วงหน้าผลไทรสุก จะพบนกเงือกกว่า ๑๐๐ ตัว มาเกาะกิ่งกินผลไทรในต้นเดียวกัน เป็นภาพธรรมชาติอันสวยงาม ยากแก่การพบเห็นจากที่ใด

ครั้งหนึ่งขณะนั่งคอยนกเงือกอยู่ เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า ถ้าได้เห็นนกเงือกชนหินเลือกคู่จะวิเศษมาก ไอ้เราก็งง มันจะวิเศษอะไรขนาดนั้น กระทั่งได้รับคำแถลงเพิ่มนั่นแหละจึงเข้าใจ เขาว่าเจ้านกเงือกชนหิน ลักษณะเด่นของมัน คือ บนหัวมีแท่นเหลี่ยมๆ อยู่ข้างบนคล้ายหิน แถมแข็งอีกด้วย แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของชื่อชนหินของมัน เพราะเวลามันเลือกคู่ ตัวผู้จะบินเข้าหากัน โดยพุ่งหัวที่มีส่วนแข็งๆ ชนกันเสียงดังสนั่น ใครชนชนะก็ได้ครองตัวเมียไป
นกเงือก 10 ชนิดที่ว่า ได้แก่ นกเงือกปากย่น, นกเงือกกรามช้าง, นกเงือกกรามช้างปากเรียบ, นกเงือกหัวหงอก, นกเงือกดำ, นกเงือกปากดำ, นกแก๊ก, นกกก, นกชนหิน และนกเงือกหัวแรด ทั้งหมดนี้นกเงือกหัวแรดบินมาให้เห็นบ่อยที่สุด ท้ายนี้ใครไม่เชื่อผมว่านกเงือกที่ อ.แว้ง หาดูง่าย ไปด้วยกันครับ เดี๋ยวพาไป รับประกันได้ว่าจะหลงเสน่ห์
อ่านเรื่องอื่นๆ
ผักแพว ผักพื้นบ้าน กลิ่นหอม ป้องกันอนุมูลอิสระ
ฤดูหนาว ความสดชื่น ที่ต้องพร้อมระวัง
อีกด้านหนึ่งของ ไฟป่า เมื่อการเผาไหม้มีประโยชน์กับต้นไม้