แวบูแล ว่าว ศักดิ์สิทธิ์

มนุษย์รู้จักหาความบันเทิงจากการเล่น ว่าว มาแต่บรรพกาล หลายชาติมีว่าวเป็กเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ว่าวจุฬา ทางภาคกลางของไทย, ว่าวรูปปลา ของญี่ปุ่น, ว่าวทรงเครื่องร่อนของชาวตะวันตก สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรืออดีต คือ ดินแดนมลายู ก็มีว่าวในแบบฉบับเฉพาะเหมือนกัน เรียกว่า “ว่าววงเดือน” หรือ “ว่าวบุหลัน” ซึ่งแผลงมาจากคำมลายูว่า “แวบูแล”

“ตามตำนานเล่าว่า เมื่อราว 500 ปีที่ผ่านมา มีเจ้าชายบุตรบุญธรรมของกษัตริย์ วงศ์อสัญแดหวา ตกหลุมรักเทพธิดาบนสรวงสวรรค์ ก็อาศัยว่าววงเดือนนี่แหละเป็นพาหนะ ขึ้นไป (ขึ้นมากับองครักษ์ 2 คน) ครั้นถูกจับได้ว่าลอบเข้าหาลูกสาวสวรรค์ เจ้าชายจึงหนี แต่ไม่ทัน ถูกยิงด้วยธนูชิ้นพระชนม์เสียก่อน โดยศพของเจ้าชายก็ได้ 2 องครักษ์ที่มาด้วยนั่นแหละ ช่วยพาขึ้นว่าวกลับสู่โลกมนุษย์ ต่อมา…ขณะทำพิธีศพเจ้าหญิงจากสรวงสวรรค์ก็แปลงกายเป็นหญิงชรานำสมุนไพรมาถวาย ส่งผลให้เจ้าชายฟื้นคืนชีพ ทำให้ทั้งคู่กลับมาครองรักกันได้เหมือนเดิม”

ตำนานที่ยกมา ชื่อว่า “เดวามูดอ” มีหลายสำนวน แต่ล้วนเกี่ยวข้องกับว่าววงเดือน เรื่องราวของ ว่าว ศักดิ์สิทธิ์ที่พาเจ้าชายจากโลกมนุษย์ ได้พบกับเจ้าหญิงแห่งสรวงสวรรค์นี้ เป็นที่มาของศาสตร์แห่งการรักษาโรค โดยผ่านการแสดงที่ชื่อว่า “มะโย่ง”

มะโย่ง เป็นการแสดง คล้ายมโนราห์ นอกจากเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังใช้เป็นพิธีกรรมรักษาโรคด้วย โดยนักแสดงจะนำว่าวไปทาบอกผู้ป่วย แล้วทำทีเป็นปล่อยว่าวขึ้นฟ้า แสดงว่า ได้นำโรคภัยไข้เจ็บเหล่านั้นทิ้งไปแล้ว

เมื่อชาวมลายูหันมานับถือศาสนาอิสลาม ปัจจุบันความนิยมของมะโย่ง จึงลดน้อยลง เนื่องจากก่อนการแสดงมีการไว้ครู การเซ่นไหว้ และมีความเชื่อทางไสยศาสตร์แฝงอยู่ ซึ่งขัดกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม (แต่ก็ยังมีกลุ่มคนอนุกรักษ์อยู่)

แม้ความนิยมมะโย่งจะน้อยลง แต่กับว่าววงเดือนนั้น ไม่เคยเสื่อมถอย อย่างภาพที่ผมนำมาให้ชมนี้ เป็นการเล่นว่าววงเดือนของชุมชนบูกิต อ่าวมะนาว จ.นราธิวาส ซึ่งทุกๆ เย็นในช่วงเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม จะพากันมาชุมนุมอยู่หน้ามัสยิดด้วยการประชันว่าววงเดือนกันอย่างสนุกสนาน ทั้งผู้ใหญ่ วัยรุ่น เด็กเล็ก และแม่บ้านที่นำของว่าง ซึ่งเตรียมมาบ้านละอย่างสองอย่าง วางสำรับไว้บนเสื่อกระจูด พร้อมให้ทุกคนมาลิ้มรส เช่นนี้ ทุกๆ เย็นในหน้าร้อน อันมีลมเย็นจากทะเลช่วยผ่อนคลายของชุมชนบูกิต จึงมักแว่วเสียง ว่าว วงเดือนร้องวี้ๆ อยู่บนฟ้า เสียงหัวเราะของผู้เล่นอยู่เบื้องล่าง ปะปนจนกลายเป็นความสุขแบบเรียบง่าย และเมื่อแว่วเสียงอาซาน ต่างก็ทยอยกันกลับบ้าน เพื่อเตรียมตัวเข้ามัสยิด ปฏิบัติตามวิถีศาสนาต่อไป


อ่านเรื่องอื่น ๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลั่นแกล้ง

ตำนาน คางคกศักดิ์สิทธิ์ ในเมื่อใคร ๆ ก็นับถือคางคก

เจ้าแม่ทับทิม ผู้อำนวยโชค อำนวยชัย

พลู ใบไม้ที่เป็นมากกว่าเครื่องเคียงกินหมาก

You may also like...