ไม่ใช่ซาไก แต่เป็น ‘โอรังอัสลี’ มนุษย์ไพรใน ฮาลา-บาลา

หากบอกว่า จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับชาวไพร ใน ฮาลา-บาลา อันมีชื่อ ‘โอรังอัสลี’ อาจแปลกใจ เนื่องจากไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่า จะพาไปเยี่ยม เงาะป่า หรือ ซาไก คงร้องอ๋อ! กัน แถมอธิบายได้ต่อเลยว่า เป็นชาวป่าอาศัยแถบภาคใต้ มีลูกดอกเป็นอาวุธ ปลูกกระท่อม เรียกว่า ‘ทับ’ อยู่ชั่วคราวแล้วย้ายถิ่นไปเรื่อยๆ ฯลฯ ความจริงแล้ว ที่เราคุ้นปากเอ่ยนามชาวไพรเผ่านี้ว่า ซาไก หรือ เงาะป่า นั้น เขาไม่ค่อยชอบเท่าไหร่นัก ด้วยเหตุผล
1. ซาไก มีรากศัพท์จากภาษามลายูที่ว่า ซาแก หมายถึง คนป่า คนเถื่อน
2. เงาะป่า ตามตัวเลย เขาไม่ใช่ผลไม้ แต่เป็นคน

ชื่อเต็มๆ ของเขาคือ โอรังอัสรี – Orang Asli โอรัง แปลว่า คน หรือชาวเผ่า แปลตามตัว คือ ชาวเผ่าอัสลี หรือประชากรดั้งเดิม หรือคนป่าพื้นเมืองเดิม นั่นเอง เรียกเขาอย่างนี้จะรู้สึกเป็นมิตรกว่า
เราอาจได้ยินเรื่องราวเด๋อๆ ของโอรังอัสรีเสมอ เช่น เชื่อว่า ให้เสือกัดหัวดีกว่ากัดขา เพราะหากกัดหัว ขายังวิ่งได้ กัดขานี่ จะเอาอะไรวิ่ง หรือสูบบุหรี่ เอาส่วนที่ติดไฟไว้ในปาก สาเหตุเพราะฝนตก ไฟจะได้ไม่ดับ เป็นต้น
…สิ่งเหล่านี่คือเรื่องขบขัน

…แต่อีกมุมหนึ่ง เขาเหล่านี้ พูดได้ถึง 3 ภาษาเป็นอย่างน้อย คือ ภาษาเผ่า, ภาษาไทย และภาษามลายู นี่หากปฏิสัมพันธ์กับฝรั่งเศส พากเขาคงพูดฝรั่งเศสได้อย่างไม่มีปัญหา
มองในมุมกลับกัน หากชาวเมืองหลงป่า คงทำอะไรเด๋อด๋าฐานะคนไม่คุ้นป่าเช่นกัน ฉะนั้นความเก่ง หรือคุณค่าของคน คงนำมาตรฐานมุมมองทิฐิส่วนตัวมาวัดไม่ได้
ข้อมูลจากนิตยสารสานสายใยวัฒนธรรมหัวใจเดียวกัน ระบุว่า ภาคใต้ของประเทศไทย มีโอรังอัสลีอาศัยอยู่ 4 กลุ่ม ประมาณ 200 คน ได้แก่ ซาไกกันซิว อยู่ในอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ซาไกยะฮาย อยู่ในอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ซาไกแตะเดะหรือเยแด อยู่บริเวณภูเขาสันกาลาคีรี แถบจังหวัดยะลา และอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งก็คือป่า ฮาลา-บาลา ซาไกแต็นเอ็น อยู่บริเวณเขาบรรทัดแถบคลองตง คลองหินแดง บ้านเจ้าพะ และถ้ำเขาเขียด อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง (รวมประมาณ 100 คน) จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูล ทั้งนี้ซาไกที่อาศัยอยู่ที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ได้รับพระราชทานนามสกุลจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยใช้ชื่อสกุลว่า ‘ศรีธารโต’ แต่ว่ากันว่าซาไกธารโตส่วนใหญ่ได้อพยพไปอยู่ในมาเลเซีย ด้วยเหตุผลด้านที่ทำกินและวิถีชีวิตที่ดีกว่า ประกอบกับเหตุผลด้านความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ (สาเหตุที่ใช้ซาไกในที่นี้เพราะอ้างตามเอกสาร)

นอกจากปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ทางประเทศมาเลเซีย มีการให้เกียรติโอรังอัสลีมากกว่าฝั่งไทย ณ ที่นั่น เขาแต่งตั้งให้ชาวไพรเหล่านี้ เป็นตำรวจป่า มีเงินเดือน คอยสอดส่องดูแลผืนป่า แล้วคนเถื่อนเหล่านี้ คุณธรรมสูงกว่าคนกรุงนัก ไม่ว่าจะเสนอสินบนมากเท่าไหร่ ก็ไม่อาจซื้อความซื่อสัตย์ของเขาได้
ภาพหมู่นี้ ผู้เขียนร่วมถ่ายกับสาวงามแห่งพงไพร ในป่า ฮาลา-บาลา อ.เบตง บริเวณหน่วยรักษาป่า พระปรมาภิไธยที่ 2 (ปากคลองบาลา) ซึ่งเป็นพื้นที่การดูแลของพี่ๆ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 หากเดินเท้าฝ่าดงจากเมืองเบตง เข้าไปต้องใช้เวลาร่วม 2 วัน แต่นี่ผมนั่งเรือท้องแบนติดเครื่องยนต์จึงใช้เวลาแค่ครึ่งวัน
โอรังอัสลีกลุ่มนี้มีความคุ้นเคยกับพี่ๆ ตชด. มักไปมาหาสู่กันเสมอ ส่วนมากก็นำยาสมุนไพรมาให้ และขอข้าวสารอาหารแห้งจาก ตชด. นั่นแหละ
โอรังอัสลีหลายกลุ่มโดยเฉพาะทางฝั่ง จ.พัทลุง เริ่มลงหลักปักฐานอยู่เป็นที่เป็นทาง มีอาชีพทำเป็นมั่นเหมาะ เพราะในป่าดำรงชีพยาก แต่กลุ่มที่ผมถ่ายภาพด้วย (เรียกตามชื่อผู้นำว่า “ไม้ไผ่”) ยังรักการแรมดงอยู่จึงยังไม่ตั้งหลักแหล่งมั่นคง เพียงติดต่อโลกภายนอกมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อรับข้าวสารอาหารแห้งจาก ตชด. เรียบร้อยแล้ว พวกเขาบอกกับคณะว่า “คืนนี้ฝนจะตกหนัก ให้ระวังหน่อย”
หลายคนไม่ค่อยเชื่อ เพราะก่อนจากกันเป็นเวลา 4 โมงเย็น แดดกำลังจ้า ไม่มีทีท่าว่าฝนจะตก แต่คนที่คุ้นเคยกับโอรังอัสลีดี บอกว่า “หาอะไรคุมเต็นท์ และยึดให้แน่นเถอะ”
เพียงแค่ดวงจันทร์ทำหน้าที่แทนตะวันเท่านั้นแหละ พายุก็พัดวู่มาทักทาย
อ่านเรื่องอื่นๆ
ผักแพว ผักพื้นบ้าน กลิ่นหอม ป้องกันอนุมูลอิสระ
ฤดูหนาว ความสดชื่น ที่ต้องพร้อมระวัง