ไอ้โทน แห่ง ฮาลา-บาลา

ฮาลา – บาลา เป็นป่าผืนสุดท้ายปลายด้ามขวานซึ่งเป็นป่าดงดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rain Forest) ในคาบสมุทรมลายูที่มีความสมบูรณ์โดดเด่นและมีค่ายิ่ง

ป่าฮาลา – บาลา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ป่าฮาลา ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และป่าบาลา พื้นที่ครอบคลุมอำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส

จะเข้าชมฮาลา-บาลา ต้องติดต่อคณะตำรวจตะเวณชายแดน (ตชด.) ที่ดูแลผืนป่า คือ หน่วยรักษาป่า พระปรมาภิไธยที่ 2 (ปากคลองบาลา) หรือกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 โดยเดินทางทางเรือเข้าไป ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง

หนึ่งในไฮไลท์ของการเดินทางเที่ยวป่าฮาลา – บาลา คือ ชมกระทิง

ขณะล่องเรือเข้าพื้นที่ตั้งค่าย คนหนึ่งในคณะสังเกตเห็นกระทิงยืนเล็มหญ้าอยู่ในพุ่มไม้ ใกล้ๆ ทุ่งหญ้า จึงหมายมั่นปั้นมือว่า จะต้องไปเก็บภาพกระทิงให้ได้ โดยมีพี่ ตชด. ท่านหนึ่ง อาสา เป็นคนพาไป ซึ่งเขาก็ยืนยันหนักแน่นว่า “รับรองเย็นนี้ พวกมันต้องลงมากินหญ้าที่ทุ่งริมน้ำแน่”         ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ฝูงกระทิงป่า กว่า 20 ตัว ยืนแทะเล็มหญ้า ให้พวกเราถ่ายภาพอย่างจุใจ มีอยู่หลายครั้ง ที่พวกมันทำท่าจะพุ่งเข้าขวิด แต่ก็หยุดความคิดลงไป ซึ่งเป็นการดีสำหรับเรา เพราะขืนพวกมันกรูกันเข้ามาหา เนื่องด้วยตกใจ เราคงลำบาก ไอ้ผมนั้นมองหาที่หนีอะไรไม่เจอเลยนอกจากน้ำ เพื่อนร่วมคณะบางคนบอกว่า ขืนมาก็ปีนต้นไม้ไว้ก่อนละ แต่บางคนตอบติดตลก มาก็นอนให้ขวิดละ ก้าวขาไม่ออก

การชมกระทิง ที่นี่ มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง คือ ไม่ต้องทำร้านนั่งส่องบนต้นไม้สูงๆ แต่สามารถเดินเข้าไปใกล้ๆ (ในระยะพอประมาณ) ก็สามารถถ่ายภาพได้

“เช้าพรุ่งนี้ มาอีกนะพี่” พี่คนหนึ่งในคณะ บอก พี่ ตชด.

“ได้” ตชด. ตอบ

วันนี้เราได้ถ่ายภาพกระทิงกัน ตกเย็นเรื่องราวของกระทิง ก็ถูกถ่ายทอดจากปากของ พี่ ตชด. (คนละคนกับที่พาไปถ่ายภาพกระทิง) เขาเริ่มต้นเรื่องเล่าตรงการเริ่มตั้งค่าย ตชด. ใหม่ๆ ว่า…

“กระทิงมาอยู่กับ ตชด. ตั้งแต่เริ่มตั้งฐาน มีทั้งกระทิงวัวกับกระทิงควาย ผมสันนิษฐานว่า วัวควายจากบ้านฮาลา เป็นส่วนหนึ่งของกระทิงป่าด้วย เพราะหลังจากอพยพแล้ว ก็ไม่ได้เอาวัวควายที่เลี้ยงอยู่ไปด้วย ตอนนั้นที่แก่นๆ ก็มีไอ้โทน กระทิงตัวนี้ไม่กลัว ตชด. แล้วมันก็เป็นตัวที่พาตัวอื่นเข้ามาด้วย ไอ้โทนเข้ามาหากิน เข้ามานอนบริเวณฐาน เสมอ ตอนหญ้าที่ลานไม่มากมันก็ขึ้นมาหากินแถวฐาน ทีนี้พอที่ลาน หญ้าขึ้นมาก มันก็ไม่ค่อยจะกลับไป ยังชอบหากินที่รอบๆ ฐาน เมื่อก่อนตื่นมาตอนเช้าเห็นรอยเท้ามันเสมอ เวลามีค่าย มีคนจากข้างนอกมาพักในฐาน มันจะเดินมาสำรวจ มาดูว่ามีใครมาบ้าง เพราะมันถือว่า นี่บ้านมัน มันเลยไม่กลัวใคร แล้ว ตชด. ไม่เคยทำอะไรร้ายมัน กระทิงก็เลยไว้ใจ เพราะสัตว์มันมีเซ็นส์ของมันว่า อยู่ตรงไหนแล้วปลอดภัย

“ครั้งหนึ่ง เคยมีกระทิงแก่ตาย ศพก็ลอยน้ำอยู่ ทีนี้ชาวบ้านขับเรือมาเห็น จึงลากขึ้นไว้บนฝั่ง แล้วเราก็ไปแจ้งอุทยานแห่งชาติให้เขาเข้ามาพิสูจน์ หลังจากนั้นเราก็ช่วยกันขุดหลุมฝังมัน ตอนที่มีกระทิงเฒ่าแก่ตายใหม่ๆ ฝูงกระทิงทั้งหมดก็นอนอยู่ตรงลานกระทิงนั่นแหละไม่ไปไหนเลย ราวสัปดาห์กว่าๆ จนลืมตัวที่ตายนั่นแหละจึงจากไป เพราะมันมีความผูกพันกัน ชาวบ้านจะขับเรือมาดูกี่คนก็ไม่หนีไปไหน หลังจากนั้นมันก็จะลงมาหากินเป็นเวลา 5 โมงเย็นบ้าง 1 ทุ่มบ้าง วันไหนมันอารมณ์ดีก็จะพากันมานอนเล่นอยู่ริมน้ำ ครั้งหนึ่งผมขับเรือกลับมาตอนมืดๆ นึกว่าใครเอาก้อนหินมาวางเรียงกันริมตลิ่งเห็นเป็นเงาตะคุ่มๆ พอส่องไฟดู ที่ไหนได้กระทิงทั้งฝูง

“พวกนี้ชินกับเครื่องเรือได้ เครื่องเรือ ตชด. มันจำ อย่างชาวบ้านเขายังจำเสียงเครื่องเรือของเราเลย ถึงเป็นเรือหางยาวเหมือนกัน แต่เสียงเครื่องไม่เหมือนกัน กระทิงก็เหมือนกันมันจำเสียงเครื่องเรือ ตชด. ที่วิ่งผ่านเป็นประจำได้ แต่ถ้าเรือที่นานๆ มาที มันก็ตกใจเหมือนกัน” นั่นเป็นเรื่องราวความผูกพันของกระทิง กับ ตชด. ในป่า ฮาลา-บาลา


อ่านเรื่องอื่นๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลั่นแกล้ง

ผักกูด เฟิร์นเลิศรส ริมธาร

น้ำบาดาลใช้ฟรี จริงไหม?

ผักแพว ผักพื้นบ้าน กลิ่นหอม ป้องกันอนุมูลอิสระ

You may also like...