11 ทุเรียน รสชาติดีเด่น ขึ้นทะเบียน GI

ทุเรียน ไทย นับว่าเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก รู้ว่าไหมทุเรียนในไทยนั้นมีมากกว่า 600 สายพันธุ์ แต่ที่ได้รับนิยมมีเพียงไม่กี่ชนิด เช่น หมอนทอง ก้านยาว ชะนี หลงลับแล หลินลับแล กระดุมทอง ป่าละอู พวงมณี นกกระจิบ ฯลฯ ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่แต่ละปีจะมีพันธุ์ใหม่ๆ มาให้ชาวไทยได้ลิ้มรสกัน เพราะเกษตรกรปรับปรุงสายพันธุ์อื่นๆ ให้ยกระดับ มีคุณภาพขึ้นมาอยู่เสมอ

ข้อสำคัญของราชาผลไม้ แม้เป็นสายพันธุ์เดียวกัน แต่ถ้านำไปปลูกต่างภาค ต่างภูมิประเทศ ก็จะทำให้รสชาติและเอกลักษณ์ต่างกัน ฉะนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographical Indication (GI) ให้กับทุเรียน ซึ่ง GI เป็นเหมือนเครื่องหมายการันตีคุณภาพของสินค้านั้นๆ ว่า เป็นของท้องถิ่นนั้นๆ ของแท้ต้องมาจากที่นี่ เป็นต้น  เพื่อรักษามาตรฐานของรสชาติและเอกลักษณ์ให้เป็นมาตรฐานไว้ มิเช่นนั้น สมมุติว่า นำพันธุ์ A ที่รสหอม นุ่ม กรอบ จากพื้นที่ ก. ไปปลูกพื้นที่ ค. รสชาติเปลี่ยน คนก็จะไปพูดต่อๆ ว่า พันธุ์ A ไม่เห็นอร่อยเหมือนที่ล่ำรือเลย ฉะนั้นต้องการันตี GI ไว้

กรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียน GI ให้สินค้าหลายรายการ สำหรับ ทุเรียน นั้นขึ้นไว้ 11 สายพันธุ์ ดังนี้

1. ทุเรียนนนท์

สำหรับทุเรียนนน์ไม่ได้กล่าวเฉพาะเจาะจงพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่ง แต่เหมารวมชนิดเด่นๆ ทั้ง ก้านยาว หมอนทอง ชะนี กระดุมทอง ตลอดจนพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ เพราะจังหวัดนนทบุรีนั้นเหมาะกับการปลูกทุเรียนอย่างยิ่ง เนื่องจากมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ดินจึงมีแร่ธาตุสำคัญรวมอยู่ แร่ธาตุเหล่านี้ก็ไหลจากต้นน้ำหลายสายมาเรื่อยๆ นั่นเอง อีกทั้งภูมิปัญญาของชาวสวนที่นี่ยังใช้ใบทองหลางมาผสมปุ๋ยอีกด้วย จึงทำให้ทุเรียนมีคุณภาพโดดเด่น

2. ทุเรียนป่าละอู

ทุเรียนป่าละอู ประกอบด้วย หมอนทอง และชะนี เนื้อหนา เหลืองอ่อน เนื้อแห้งเนียนละเอียด กลิ่นอ่อน เม็ดเล็ก กลิ่นไม่แรง จึงเป็นที่นิยมของนักกิน สำหรับทุเรียนป่าละอูนั้น เป็นการนำพันธุ์ก้านยาวจากนนทบุรี และหมอนทองจากระยอง มาปลูก และพัฒนากระทั่งได้เอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว

3. ทุเรียนปราจีน

ทุเรียนปราจีน ประกอบด้วยก้านยาว หมอนทอง ชะนี กระดุมทอง ลักษณะพิเศษ คือ เนื้อแห้ง เส้สนใยน้อย รสหวานมัน ปลูกในพื้นที่ อ.เมืองปราจีนบุรี อ.กบินทร์บุรี อ.ประจันตคาม อ.ศรีมหาโพธิ์ และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งทุเรียนปราจีน เริ่มจากเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ที่ชาวสวนนำพันธุ์จาก จ.นนทบุรี มาปลูก เมื่อทุเรียนย้ายพื้นที่มาเจอภูมิอากาศ ปริมาณฝน ของปราจีนบุรีเข้าไป จึงทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นขึ้นมา

4. ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์

หลงลับแลเป็นพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งผลกลมรี มีขนาดเล็ก เปลือกบาง เนื้อมาก เม็ดเล็ก เนื้อหวานมัน กลิ่นไม่แรง ปลูกกันในพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์

5. ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์

หลินลับแลผลเป็นทรงกระบอก เปลือกบาง เนื้อเหลืองเข้มละเอียด เหนียวและแห้ง เก็บไว้ได้นานโดยไม่แฉะ รสชาติหวานมัน กลิ่นไม่แรง ปลูกกันใน อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์

พักครึ่งทาง

จะเห็นว่า จ.อุตรดิตถ์ ให้ผลผลิตทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองออกมารสเลิศนัก นั่นเพราะพื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย หรือที่เรียกกันว่า ดินแดงผาผุ อีกทั้งในพื้นที่ยังมีแร่ธาตุที่เหมาะกับทุเรียนอีกด้วย จึงทำให้รสชาติ และคุณภาพทุเรียนโดดเด่นนัก

6. ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ

ทุเรียน ภูเขาไฟศรีสะเกษ ประกอบด้วย ก้านยาว หมอนทอง ชะนี ปลูกกันใน อ.ขุนหาญ อ.กันทรลักษณ์ และ อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ จังหวัดแห่งนี้ถือเป็นน้องใหม่ในวงการทุเรียน เพราะเริ่มปลูกเมื่อราวๆ พ.ศ. 2531 นี่เอง แต่เพราะดินภูเขาไฟ หินบะซอลล์นั้น มีแร่ธาตุที่เหมาะสมกับทุเรียน จึงทำให้มีลักษณ์ที่โดดเด่น คือ เนื้อนุ่ม แต่แห้งละเอียด หวานมัน หอมปานกลาง

7. ทุเรียนสาลิกาพังงา

เป็นพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดพังงา ผลทรงกลม เปลือกบาง หนามสั้นถี่ ส่วนเนื้อทุเรียนสีเหลืองเข้ม หนาละเอียด รสหวาน กลิ่นไม่แรง แกนกลางเลือกเป็นสีสนิมแดง 

8. ทุเรียนในวงระนอง

ทุเรียนในวงระนอง คือ พันธุ์หมอนทอง ของที่นี่มีร่องพูชัดเจน เปลือกบาง หนามสีเขียวถี่ เนื้อหนาเนียนสีทองละเอียด รสหวานหอม มัน กรอบ กลิ่นไม่แรง ปลูกกันใน ต.ในวงเหนือ และ ต.ในวงใต้ อ.ละอุ่น จ.ระนอง สาเหตุที่โดดเด่นแตกต่างจากหมอนทองที่อื่นนเพราะมีภูเขาล้อมรอบ มากด้วยแร่ธาตุที่เหมาะกับทุเรียน

9. ทุเรียนชะนีเกาะช้าง

ชื่อระบุชัดว่าเป็นพันธุ์ชะนี ปลูกที่เกาะช้าง จ.ตราด ลักษณะผลค่อนข้างรี ยาว หนามใหญ่และห่าง ส่วนใหญ่มีหนามแดง เนื้อทุเรียนหนา ละเอียด แห้งและเหนียว รสหวานมัน มีกลิ่นหอม

10. ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่

ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ เป็น หมอนทอง ลักษณะเด่น คือ เนื้อเนียน แน่นหนึบ มีเหลืองสม่ำเสมอ รสหวานมัน กลิ่นไม่แรง ปลูกกันใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งอยู่ในทุ่งหญ้าเขตร้อน มีมรสุมพัดผ่าน ทำให้อากาศชุ่มชื้น กลางวันร้อนกลางคืนเย็น ดินระบายน้ำได้ดี ส่งผลให้ทุเรียนมีเอกลักษณ์โดดเด่นขึ้นมา

11. ทุเรียนจันท์

ทุเรียนจันท์ในที่นี้ประกอบด้วยพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ ได้แก่ พวงมณี นกหยิบ ทองลินจง นวลทองจันทร์ กบสุวรรณ รวมทั้งพันธุ์ทางเศรษฐกิจ เช่น จันทบุรี 1 – 10 ทุเรียนจันท์โดดเด่นที่เนื้อละเอียด เส้นใยน้อย สาเหตุที่ทุเรียนจันท์ขึ้นชื่อเพราะพื้นที่ประกอบด้วยหินปูน ดินระบานน้ำได้ดี มีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับทุเรียน

และนี่คือทุเรียนที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ซึ่งการบรรยายคุณสมบัติ ทางเราบอกแบบเบื้องต้นเท่านั้น ลักษณะ รสชาติจริงๆ ผู้อ่านต้องลองสัมผัสเองกันแล้วล่ะ ทั้ง 11 พื้นที่นี้ คอทุเรียนไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง


อ่านเรื่องอื่นๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลั่นแกล้ง

ฤดูหนาว ความสดชื่น ที่ต้องพร้อมระวัง

อีกด้านหนึ่งของ ไฟป่า เมื่อการเผาไหม้มีประโยชน์กับต้นไม้

รู้ประโยชน์ของใบอ้อย ก่อนตัดสินใจ เผาอ้อย ของดีจากธรรมชาติที่หลายคนอาจไม่รู้

You may also like...