ไซเบอร์บูลลี่ ในญี่ปุ่น อาจเจอคุก 1 ปี
ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงความรุนแรงของ ไซเบอร์บูลลี่ ในกิจกรรม “หยุดการบูลลี่บนโลกไซเบอร์” โครงการ TMF พลังขับเคลื่อน สังคมสื่อสร้างสรรค์ MEDIA COMMUNITY ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 3 กรกฏาคม 2565 ว่า “เหมือนถูกดักตบหน้าโรงเรียน และอาจหนักกว่า เพราะไซเบอร์บูลลี่กระทำซ้ำๆ จากใครก็ไม่รู้ และไม่รู้จะโดนอีกเมื่อไหร่ ซึ่งรุนแรงมาก พอนึกถึงความรุนแรง เรามักไปมองบาดแผลทางกาย แต่ความรุนแรงจากโลกไซเบอร์นี่เลือดสาดเลยนะ เพียงแต่มองไม่เห็น”

ความรุนแรงของไซเบอร์บูลลี่ส่งผลให้ผู้ถูกกระทำเกิดภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ฯลฯ หลายประเทศตระหนักถึงเรื่องนี้ มีการรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2565 ทางญี่ปุ่น ได้ผ่านกฎหมาย “ดูหมิ่นทางออนไลน์” (“online insults”) ก็ประมาณไซเบอร์บูลลี่นั่นแหละ
กฎหมายดูหมิ่นทางออนไลน์มีโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี หรือปรับ 300,000 เยน (ประมาณ 78,000 บาท) กฎหมายนี้ไม่ได้จู่ๆ เข้าสภาทันที แต่ถูกผลักดันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ที่คนมีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ถูกไซเบอร์บูลลี่จนฆ่าตัวตายหลายคน เช่น นักมวยปล้ำหญิง ฮานะ คิมูระ ที่จบชีวิตลงเมื่อปี 2563 เป็นต้น

แม้กฎหมายดูหมิ่นทางออนไลน์ดูเหมือนเป็นเรื่องดีที่จะช่วยควบคุมเกรียนคีย์บอร์ด แต่นักวิชาการหลายคนเป็นห่วงว่าจะกลายเป็นการริดรอนสิทธิ์เสรีภาพในการเสนอความคิดเห็น หรือวิจารณ์ โดยเฉพาะวิจารณ์นักการเมือง เพราะไปๆ มาๆ จะกลายว่าบูลลี่ไปหมด จึงได้มีบทบัญญัติควบคุมว่า จะพิจารณาตรวจสอบกฎหมายอีกครั้งเมื่อบังคับใช้แล้ว 3 ปี คือก็ทบทวนแหละว่าดีหรือไม่ดี (ในมุมมองแอดการวิจารณ์ กับบูลลี่ มันต่างกันชัดเจนอยู่แล้ว)
ในช่วง 1 – 2 ปี ที่ผ่านมา ไม่ได้มีแค่ญี่ปุ่นที่นำกฎหมายมาใช้แก้ปัญหาการบูลลี่ เมื่อปลายปี 2564 ประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ผ่านร่างกฎหมายกำหนดโทษนักเรียนที่บูลลี่คนอื่น หนักถึงจำคุก 3 ปี (บังคับใช้สำหรับนักเรียนและผู้ที่ทำงานในสถานศึกษา) นอกจากโทษคุกแล้ว ยังมีปรับไม่เกิน 45,000 ยูโร หรือประมาณ 1,700,000 บาท แต่ถ้าคนถูกแกล้งฆ่าตัวตาย โทษจะหนักขึ้นไปอีก คือ จำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับไม่เกิน 150,000 ยูโร หรือประมาณ 5,700,000 บาท

ทางด้านประเทศเกาหลีใต้ ที่เผชิญปัญหาบูลลี่ไม่น้อยหน้าชาติใด เมื่อต้นปี 2565 ก็มีประชาชนจำนวน 150,000 คน เข้าชื่อเรียกร้องกฎหมายไซเบอร์บูลลี่แล้วเช่นกัน
นี่เป็นข่าวคราวจากประเทศต่างๆ ที่นำกฎหมายเข้ามาแก้ไขปัญหาบูลลี่ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ช่วงแรกเริ่มต้นก็ต้องมีข้อถกเถียงเป็นธรรมดา เพราะการบูลลี่ไม่ใช่อาชญากรรมเหมือนการไปตีหัวใคร ถึงจะมีกฎหมายหมิ่นประมาทรองรับอยู่ แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมเหมือนกฎหมายบูลลี่โดยตรง สุดท้ายแล้วปัญหาการบูลลี่จะหมดไป หากทุกคนเข้าใจความต่าง รู้จักนำใจเขามาใส่ใจเรา ไม่มีใครชอบถูกแกล้ง ไม่ว่าจะซึ่งหน้า หรือ ไซเบอร์บูลลี่ เพราะการกลั่นแกล้งไม่ใช่เรื่องสนุก
อ่านเรื่องอื่น ๆ
คิดต่าง ทำตัวเด่น เลือกทำความเข้าใจ ดีกว่าหมั่นไส้ไหม
การพูดเล่น ที่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
เงินปลอม นี้ น้องขอนะ แกล้งมาแกล้งกลับ (แต่อาจเจ็บตัวได้)