บูโก ส้มโอยะรัง เสน่ห์หวานฉ่ำ ณ เมืองเก่าลังกาสุกะ

แต่ละชุมชนมีของดีประจำถิ่นเสมอ โดยเฉพาะผลผลิตแห่งเกษตรกรรม ณ เมืองเก่าลังกาสุกะ ซึ่งปัจจุบันรู้จักกัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ก็มีเช่นกัน ของดีขึ้นชื่อของที่นี่ คือ ส้มโอ บูโก

ส้มโอบูโกหากปอกเปลือกเสิร์ฟใส่จานมาให้ ดูเผิน ๆ อาจคิดว่า ‘ทับทิมสยาม’ ส้มโอ GI ของทางปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เพราะหน้าตาคล้ายคลึงกัน คนขายเองยังสับสนว่า เป็นทับทิมสยาม

ฉันถามว่า ในเมื่อเป็นส้มโอ GI ของปัตตานีแล้ว จะเรียกทับทิมสยามได้อย่างไร คำตอบที่ได้ คือ ทางยะรังเรียก บูโก ส่วนทางนครศรีธรรมราชเรียกทับทิมสยาม

หลังจากได้คำตอบจากแม่ค้า ฉันลองค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมดู พบว่าเว็บไซต์ ‘เรื่องเล่า ข่าวเกษตร’ พูดถึงส้มโอบูโกว่า ต้นสายมาจากการที่เกษตรกร ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี มีโอกาสซื้อส้มโอพันธุ์ทองดีนครชัยศรีมากิน แล้วชอบรส จึงนำเมล็ดมาปลูกในสวนของตัวเอง ปรากฏว่าส้มโอกลายพันธุ์ มีเนื้อสีแดงคล้ายทับทิมสยาม รสหวาน ฉ่ำ จึงกลายเป็นพันธุ์ใหม่ขึ้นมา เรียกว่า บูโก

ฉันได้กินส้มโอพันธุ์ บูโก แล้วพบว่า เนื้อแน่น แต่รสสัมผัสนุ่ม ฉ่ำ หวานอมเปรี้ยว ซื้อไปฝากใครก็ไม่อาย เรียกความประทับใจได้แน่นอน

เอกลักษณ์ภายนอกของส้มโอบูโก คือ ผลเล็ก ส่วนปลายเป็นจุกเห็นชัดเจน ฉันยังเปรย ๆ กับเพื่อนว่า แปลกเนอะผลไม้ชายแดนใต้ที่อร่อยเลิศส่วนมากมักเป็นจุก เช่น ส้มจุกจะนะ, ลองกองตันหยงมัส เป็นต้น

หลายคนคงสงสัยแล้วไอ้ชื่อ ‘บูโก’ มาจากไหน ฉันก็รู้แหละว่าต้องสงสัย จึงเก็บมาเล่าช่วงท้าย เท่าที่อ่านมานะ บูโก เป็นภาษามลายู แปลว่าตราประทับ แล้วส้มโอทองดีนครชัยศรีลูกต้นฉบับที่ซื้อมาน่ะ มันมีตราอักษีจีนแปะอยู่ เมื่อใคร ๆ ถามว่านี่พันธุ์อะไร เจ้าของต้นจึงบอก “อ้อ พันธุ์บูโก”

ชายแดนใต้มีของดีมากมาย ไม่ใช่เพียงผลไม้ ไว้ฉันจะเก็บมาเล่าอีกเรื่อย ๆ


อ่านเรื่องอื่นๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลั่นแกล้ง

ไอ้โทน แห่ง ฮาลา-บาลา

ไม่ใช่ซาไก แต่เป็น ‘โอรังอัสลี’ มนุษย์ไพรใน ฮาลา-บาลา

นราธิวาส Hornbill ในป่า ฮาลา-บาลา

You may also like...