หินแวว ม่านประดับถ้ำ ประกายเพชรในความมืด
สอบถามนักให้กำลังใจ คุณจะได้ยินคำประมาณ “ในความมืดย่อมมีแสงสว่าง” หรือ “ปลายอุโมงมีแสงสว่าง” แต่หากมายืนอยู่ตรงปากถ้ำมืด ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหน้าถ้ำ มัคคุเทศก์ของเราจะบอกว่า ในโถงถ้ำอันมืดมิดนั้นมี หินแวว ม่านประกายเพชรแวววาวสุกสกาวรอให้ชื่นชมอยู่ อย่าช้าเลยรีบเข้าไปกันเถอะ

รับประกันครับ เมื่อได้เห็นหินแววแล้วคุณจะต้องร้องว้าว! เพราะหินแววในถ้ำมืดของชุมชนเราสวยงามจริงๆ แต่จะจริงแค่ไหน ข้อนี้รอคุณมาพิสูจน์
หินแวว เป็นปรากฏการณ์หินงอกหินย้อยลักษณะหนึ่ง เรียกว่า ม่านหินปูน เพราะดูดีๆ แล้วออกคล้ายๆ ม่านเพชรอยู่ไม่น้อย การเกิดความแวว มาจากน้ำที่มีสารคาร์บอเนตไหลแหมะ ไหลแหมะ ลงมาทีละหยด ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตามแนวเดิม จนเกิดตะกอนแร่เกาะตัวเป็นแผ่นบางๆ แวววาวสวยงาม

ภายในถ้ำมืดมีหินงอกหินย้อยให้ชมหลายจุด อีกทั้งหินสีดำคล้ายเหล็กไหลก็มีให้เห็น ซึ่งสันนิษฐานว่าภายในถ้ำแห่งนี้อดีตน่าจะเป็นภูเขาไฟใต้ทะเลมาก่อน ปรากฏการณ์หินงอกหินย้อยเกิดขึ้นได้อย่างไร มีอธิบายเป็นหลักวิทยาศาสตร์ไว้อยู่ แต่อธิบายสั้นๆ แบบกระชับๆ ได้ว่า เมื่อฝนตก น้ำก็ซึมลงถ้ำ น้ำฝนมีคุณสมบัติเป็นกรดเมื่อเจอกับหินปูนก็เลยทำปฏิกิริยากับสารแคลเซียมในหินปูน จึงละลายไหลออกมา เมื่อน้ำระเหยก็ตกตะกอนเป็นหิน ลองสังเกตนะครับ หินที่อยู่บนเบดานถ้ำ เราเรียกว่า “หินย้อย” เกิดจากสารหินปูนนี่แหละละลายไหลลงมา บางส่วนก็หยดลงพื้นถ้ำ บางส่วนก็เกาะไม่ยอมหยดลง ส่วนที่หยดลงพื้น เราเรียกว่า “หินงอก” เมื่อเวลาผ่านไปนาน นาน นาน และนานเรื่อยๆ หินงอก หินย้อย จะค่อยๆ ยืดมาบรรจบกัน แล้ว ปุ้ง! กลายร่างเป็น “แท่งเสา”

แต่หากใครต้องการสัมผัสบรรยากาศของถ้ำมืด ที่ไม่ได้มีเพียงหินแวว หินงอกหินย้อย แต่ยังได้ชมขดพญานาคดำ ได้สักการะพระพุทธไสยาสน์สมัยศรีวิชัยด้วยละก็ เชิญที่ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหน้าถ้ำของเราครับ แล้วคุณจะประทับใจไม่รู้ลืม
อ่านเรื่องอื่นๆ
นราธิวาส Hornbill ในป่า ฮาลา-บาลา
11 ทุเรียน รสชาติดีเด่น ขึ้นทะเบียน GI