เบอร์อามัส ว่าวทอง อัตลักษณ์ชายแดนใต้ ภูมิปัญญาที่มาจากตำนานความเชื่อ

ว่าว ถือเป็นวัฒนธรรมของชาวเอเชียเลยก็ว่าได้ เพราะมีเล่นกันแทบทุกพื้นที่ และเชื่อกันว่า ว่าวมีมากว่า 2,000 ปีแล้ว ต้นกำเนิดส่วนใหญ่ก็เทให้ประเทศจีน โดยตำนานเล่าว่า เริ่มจากที่ชาวจีนคนหนึ่งผูกเชือกไว้กับหมวกของเขา เพื่อไม่ให้ลมพัดปลิวสูญหายไป เมื่อลมพัดหมวกขึ้นฟ้าโดยมีเชือกรั้งไว้ นั่นแหละว่าวถือกำเนิด ส่วนทางประเทศอินเดียเขาก็มีการเล่นว่าวมานานแล้วเช่นกัน มีว่าวชนิดหนึ่งชื่อ “หง่าว” ว่าวนี้ใช้ในการเสี่ยงทายโชคชะตาบ้านเมืองเป็นหลัก หลักฐานในถ้ำของอินโดนีเซียพบภาพวาดก่อนประวัติศาสตร์ มีรูปคล้ายยขนมเปียกปูนลอยบนอากาศอีกด้วย กลับมาที่ชายแดนใต้ หรือแหลมมลายู อดีตดินแดนลังกาสุกะ ก็มีว่าวที่เป็นเอกลักษณ์เช่นกัน เด่น ๆ คือ ว่าววงเดือน แต่ปัจจุบันประเทศมาเลเซียจดเป็นว่าวอัตลักษณ์ของประเทศเขาแล้ว อีกว่าวหนึ่ง ก็คือ เบอร์อามัส หรือ ว่าวทอง ที่พัฒนาจากความเชื่อเมื่อครั้งลังกาสุกะ กระทั่งเป็นอัตลักษณ์ที่งดงามของชายแดนใต้

ว่าวเบอร์อามัสแบบเดิม

ที่มาของว่าวเบอร์อามัส

ย้อนไปเมื่อครั้งชายแดนใต้ยังเป็นดินแดนที่นับถือฮินดู-พราห์ม มีว่าวชนิดหนึ่งได้รับการยกย่องว่าศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือ ว่าวเทวดา วรรณกรรมสมัยนั้นกล่าวว่า เจ้าชายเดอวามูดา มีว่าวชนิดหนึ่งรูปร่าง มีแขน มีขา คล้ายเทวดา ใช้เป็นพาหนะเดินทางไปสวรรค์ได้ เจ้าชายก็ใช้ว่าวนี่แหละขึ้นไปหาเจ้าหญิงบนสวรรค์ ครั้นหนึ่งถูกจับได้ว่าลักลอบคบหาเจ้าหญิง เจ้าชายถูกยิง แม้หนีลงมาได้ แต่ก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหว ตายบนโลกมนุษย์ในที่สุด เจ้าหญิงจึงโดยสารว่าวลงมามอบยาวิเศษให้ เจ้าชายเลยฟื้น จึงมีความเชื่อว่าว่าวเทวดาสามารถรักษาโรคได้ ฉะนั้นการแสดงมะโย่ง ที่มักแฝงพิธีกรรมด้านการรักษาโรคจึงนิยมเล่นละครเรื่องนี้

เมื่อพื้นที่ชายแดนใต้หันมานับถือศาสนาอิสลาม การสร้างสิ่งของที่มีรูปร่างมนุษย์ และสัตว์ ผิดหลักศาสนาว่าวเทวดาจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม

ทั้งนี้พบว่า สมัย 7 หัวเมือง เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว เจ้าเมืองจะทำการปล่อยว่าวชนิดนี้ก่อน โดยจะติดกระดาษทองไว้ที่หัวว่าวก่อนปล่อย เมื่อปล่อยแล้ว ชาวบ้านจึงจะเล่นว่าวได้ตามปกติต่อไป

ในภาษามลายู “อามัส” หรือ อือมัส แปลว่า “ทอง” ฉะนั้นจึงเรียกกันว่า ว่าวเบอร์อามัส การปล่อยว่าวทอง นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของฤดูการเก็บเกี่ยวแล้ว ยังใช้สำหรับดูกระแสลม เพื่อให้ปราชญ์ได้ทำนายทิศทางการเพาะปลูกในปีถัดไปอีกด้วย

นอกจากนี้ว่าวเบอร์อามัสถูกจัดเป็นว่าวเจ้าเมือง การรับรู้สำหรับผู้คนจึงน้อยกว่าว่าวอื่น ๆ

ว่าววงเดือน

ว่าวเบอร์อามัสกับการอนุรักษ์ในปัจจุบัน

ปัจจุบันปราชญ์ด้านว่าวหลายคน ได้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูว่าวเบอร์อามัสขึ้นมาอีกครั้ง ให้เข้าถึงผู้คนได้ทุกส่วน โดยการตัดทอนรูปร่างแต่เดิม ที่เห็นแขน เห็นขา ชัดเจน ออกไป เพื่อไม่ให้ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม

ปราชญ์ที่สำคัญ คือ นายแวฮามิ วานิ ช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 ประเภทงานเครื่องกระดาษ (ว่าวเบอร์อามัส) ลูกหลานช่างหลวงของเจ้าเมืองสายบุรีในอดีต

ภาพโดย Dimitris Vetsikas จาก Pixabay

หลากตำนานเรื่องว่าว

ไหน ๆ ยกว่าวทองมาเล่าแล้ว ก็ยกเรื่องเล่าขานตำนานว่าวอื่น ๆ ในที่ต่าง ๆ มาเสริมกันสักหน่อยเพื่อส่งท้าย และเสริมว่าว่าวมีความสำคัญเพียงไร

ว่าวระเบิด

สมัยที่สมเด็จพระเพทราชาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า เจ้าเมืองนครราชสีมาไม่ยอมสวามิภักดิ์ ตั้งตนแข็งเมือง พระองค์จึงยกทัพไปตี แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นผ่านไปหนึ่งปี จึงยกไปใหม่ ครั้งนี้แม่ทัพนายกองได้คิดอุบาย ใช้ว่าวจุฬาผูกหม้อดินปืนขึ้นไปถล่มเมือง เมื่อชักว่าวขึ้นไปแล้ว ก็ทำการจุดชนวน ทำให้หม้อดินปืนตกลงเมือง ไฟลุกไหม้ จนชาเมืองและทหารตกใจ ในที่สุดก็เข้าตีเมืองนครราชสาได้

ว่าวลุงเชย

ในประเทศไทยมีการจัดมหกรรมแข่ขันว่าวมาช้านาน ในงานนั้นแต่ก่อนจะมีว่าวเบิกโรงชื่อ ลุงเชย รูปร่างเป็นลุงชาวบ้าน แต่งกายเรียบง่าน นุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว เพื่อแสดงถึงความจริงใจ และสร้างบรรยากาศเป็นกันเอง บางครั้งก็ใส่อารมณ์ขันเข้าไปด้วย

ว่าวอย่างนี้มีด้วยเหรอ

ว่าวนั้นมีนักประดิษฐ์คิดค้นรูปแบบมาให้ตื่นตาตื่นใจเสมอ แต่ละชนิดอาจมีคำถามว่า ได้เหรอ? ขึ้นมาบ่อย ๆ แต่ถึงอย่างไรก็มีแล้ว เช่น ว่าวหัวล้านชนกัน ว่าวผี ว่าวรถถัง ว่าวหุ่นยนต์ ว่าวสกายแล็ป เป็นต้น

สรุป

ว่าวในหลากหลายตำนาน และเรื่องเล่า นำมาเริมเพื่อความบันเทิง จะเห็นว่าว่าวมีพัฒนาการหลายรูปแบบ บางชนิดก็เพิ่งเกิด เกิดมาเพื่อความบันเทิง มีว่าวไม่กี่ชนิดเท่านั้น ที่เกิดมาแล้วเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน หนึ่งในนั้น คือ ว่าวทอง หรือว่าวเบอร์อามัส นั่นเอง


อ่านเรื่องอื่น ๆ

หน้าแรก


อ้างอิง

https://www.stou.ac.th/

https://www.saranukromthai.or.th

https://www.saranukromthai.or.th

https://www.creativethailand.org/article-read?article_id=33635

https://isoc5.net/articles/view/177

https://www.sacit.or.th

You may also like...