พุทธอุทยานมหาราช – หลวงพ่อทวดองค์ใหญ่

พุทธอุทยานมหาราช – หลวงพ่อทวดองค์ใหญ่: สำหรับคนที่ชอบการถ่ายภาพแล้ว ย่อมรู้ดีว่า การจะถ่ายภาพดวงอาทิตย์งามๆ สักดวง ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิ่งนี้อยู่เหนือการควบคุม เป็นธรรมชาติที่ไม่สนหรอกว่า จะมีใครมาถ่ายรูปบ้าง อย่างต้องการภาพอาทิตย์ดวงกลมๆ สีส้ม ที่เพิ่งโผล่พ้นขอบเขา หรือโค้งขอบฟ้ายามเช้าแล้วละก็ ขืนนอนอุตุอยู่ ตื่นสาย ก็ไม่ทันถ่ายแน่ บางครั้งไม่หลับไม่นอน นั่งเฝ้า ก็ใช่จะเก็บภาพได้ เพราะเมฆบังบ้าง ฝนตกบ้าง ชวดนักต่อนักแล้ว…มาถึงฝั่งดวงอาทิตย์ตกก็เช่นกัน เห็นแว็บๆ กำลังงาม แค่เผลอก้มหยิบกล้อง เงยหน้าอีกที ตกซะแล้ว นี่แหละ คือ ความยากที่ผมว่าละ

ดวงอาทิตย์ขึ้นผมชอบอยู่หลายที่นะ แต่ดวงอาทิตย์ตกนี่ ยังไม่เห็นว่าที่ไหนจะงามเท่า “พุทธอุทยานมหาราช” เพราะที่นี่มีรูปหล่อหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตัก 24 เมตร ความสูงรวมฐาน 51 เมตร ประดิษฐานตระหง่านอยู่ ยามเย็นพระอาทิตย์ดวงกลมโตจะคล้อยต่ำลงมาใกล้ๆ องค์หลวงพ่อ ทั้งแสงสีส้ม ทั้งท้องฟ้า ทั้งทุ่งนากว้าง เกิดเป็นภาพที่งามมาก

แต่อีกนั่นแหละ ภาพพระอาทิตย์ตกจะให้ถ่ายสวย ก็ต้องฤดูหนาว ด้วยเหตุนี้ ผ่านมาแล้วร่วมปี ผมจึงยังไม่มีภาพพระอาทิตย์ตก เบื้องข้างหลวงพ่อทวด ดั่งตั้งใจเสียที (มีก็ตามที่แนบมาอวดนี่แหละ)

สำหรับหลวงพ่อทวด เดี๋ยวนี้ไปไหน ไม่ว่าภาคใด เป็นต้องมีองค์ใหญ่ๆ ให้เข้าไปสักการะบูชาเสมอ เพราะท่านเป็นที่นับถือของชนทั้งชาติ เป็นพระมหาชน ที่ถูกสร้างเป็นพระเครื่องมากที่สุดก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่หมดยุคของท่านมาหลายร้อยปีแล้ว…อีกทางหนึ่งก็มีบางส่วนแหละ ที่วัดหวังแปลความศรัทธามาเป็นเงิน สร้างไว้เพื่อหวังดูดทรัพย์ของผู้คน ก็อย่างว่า ถ้าเจตนาไม่บริสุทธิ์ ไม่นานหรอกครับ เดี๋ยวร้างผู้คนเอง ต่อให้สร้างใหญ่แค่ไหนก็เถอะ ที่ผ่านมามีข่าวให้เห็นอยู่บ้างว่า แค่คิดจะสร้างก็ไม่สำเร็จแล้ว หากเจตนาไม่งาม

เคยคุยกับเซียนพระเครื่องที่แบกะดินในตลาดหน้าปากซอยคนหนึ่ง เขาบอกว่าหลวงพ่อทวดไม่มีจริง เป็นเพียงแค่นิมิตของอาจารย์ทิม (ท่านแรกที่คิดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด)

ครับ ในแง่ของการสร้างพระเครื่อง มาจากนิมิตจริง แต่ถ้าด้านความมีตัวตนของหลวงพ่อแล้ว ต้องยอมรับว่ามีอยู่จริง เพราะมีหนังสือโบราณอ้างอิงความมีอยู่ของท่าน พอจะเล่าย่อๆ ได้ดังนี้…

หลวงพ่อทวดมีชื่อทางพระว่า “สามีราม” อยู่ในสมัยอยุธยา วัดเดิมอยู่ที่สทิงพระ (วัดพะโคะ จ.สงขลา) ครั้นเรียนวิชาจนจบแล้ว ก็คิดไปเรียนเพิ่มเติมยังเมืองหลวง คือ อยุธยา ขาไปได้อาศัยเรือสำเภาเขา เนื่องด้วยตัวท่านดำเจ้าของเรือจึงไม่อยากรับ แต่ก็ขัดคนที่ฝากไม่ได้ ฉะนั้นในใจจึงรู้สึกเคืองๆ อยู่ ขณะเดินทางนี่เอง จู่ๆ เรือกลับไม่แล่นซะเฉยๆ ค้างเติ่งกลางทะเลอยู่นานวัน จนน้ำจืดหมด เจ้าของเรือเห็นอาเพศดังนี้ ก็โผล่งว่า ‘ว่าแล้ว เพราะพระตัวดำอยู่บนเรือนี่ไง’ จึงสั่งให้ลูกเรือ พายเรือเล็กไปปล่อยขึ้นฝั่ง ขณะนั้นเอง หลวงพ่อทวดได้จุ่มเท้าลงในน้ำทะเล ปรากฏว่า น้ำที่ควรเค็มกลับจืดสนิท ใช้ดื่มได้ ชาวเรือเห็นอัศจรรย์ดังนั้นจึงพากันขอขมาหลวงพ่อทวดเป็นการใหญ่ หลังจากนั้นเรือก็ออกแล่นต่อไปไม่ติดขัดอีก กระทั่งถึงอยุธยา ในอยุธยานี่เองหลวงพ่อทวดได้สร้างคุณอันยิ่งใหญ่มากมาย จึงได้เลื่อนเป็นสมเด็จพระราชาคณะ แต่ไม่นานท่านก็เบื่อลาภยศสรรเสริญ จึงธุดงค์กลับวัดพะโคะ ช่วงที่อยู่วัดนี่เอง ปรากฏว่าท่านได้โละหายไป และมีชาวบ้านพบว่าท่านไปปรากฏกายที่เมืองไทรบุรี (ประเทศมาเลเซีย) ต่อจากนั้นท่านก็มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี

ข้อความข้างบนนั้น เป็นเรื่องเล่าแบบย่อๆ หากท่านใดใคร่รู้อย่างละเอียด แนะนำให้อ่านหนังสือชื่อ ‘ประวัติศาสตร์สมัย หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด’ เขียนโดย ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

เกี่ยวกับคุณอันยิ่งใหญ่ของหลวงพ่อทวด ข้อมูลส่วนนี้ ทางพุทธอุทยานมหาราช ได้นำมาใส่ไว้ในแผ่นพับประชาสัมพันธ์ ข้อความว่า… ‘ประวัติของท่านนั้น มีจารึกไว้อย่างเป็นทางการในเอกสารเก่าโบราณครั้งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า “พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาหัวเมืองพัทลุง” ซึ่งจารึกไว้กว่า 400 ปี ล่วงมาแล้ว เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่สามารถยืนยันการมีตัวตนจริงของหลวงปู่ทวดได้ และที่สำคัญท่านมีสมณศักดิ์เป็นถึง “สมเด็จพระราชาคณะ” ที่สมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์” มีความหมายคือ เป็นพระอาจารย์ที่มีคุณอันยิ่งใหญ่ต่อพระราชา ฉายาเดิมของท่านคือ “พระภิกษุ ปู สามีราโม” จึงมีนามว่า “สามีราม) อยู่ในสมณศักดิ์ ท่านบวชี่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจึงได้มาศึกษาเล่าเรียนต่อที่กรุงศรีอยุธยา’

ขอเสริมเหตุการณ์ด้านมีคุณอันยิ่งใหญ่ต่อพระราชาว่า ขณะที่หลวงพ่อทวดศึกษาอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้น ทางประเทศลังกา ต้องการครอบครองอยุธยา จึงคิดอุบายท้าพนัน ให้อยุธยา เรียงอักขระพระไตรปิฏก 84,000 พระธรรมขันธ์ จากเมล็ดข้าวทองคำให้สำเร็จภายในเวลากำหนด หากแพ้ต้องยกเมืองให้ลังกา ถ้าชนะก็จะได้เครื่องบรรณาการที่เตรียมมาไป แรกๆ ก็เหมือนง่าย แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีพระรูปใดเรียงได้ กระทั่งวันสุดท้าย จึงได้หลวงพ่อทวดมาช่วย ท่ายดูแวบเดียวก็ทราบว่าอักขระถูกซ่อนไว้ 7 คำ คือ สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ

พุทธอุทยานมหาราช ภูมิทัศน์รอบด้านสวยงามน่าเที่ยว สมกับความตั้งใจของผู้สร้างที่ต้องการให้เป็น สถานที่ท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเมื่อขับรถเข้าไปยังบริเวณ จะพบกับร้านค้าท้องถิ่นมากมาย มีสระน้ำที่ได้นำเป็ดยักษ์ปลอมมาวางไว้สร้างความสวยงาม เป็ดจริงๆ ก็มีว่ายน้ำด้วย ยามเย็นมานั่งริมสระได้ทั้งความร่มรื่น และผ่อนคลายสบายใจ ไม่เชื่อลองไปนั่งสิครับ ผมผ่านมาแล้ว

ภายในวิหาร ด้านหน้าหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ นอกจากใช้ประดิษฐานรูปหล่อพระต่างๆ แล้ว ยังมีกิจกรรมทำบุญให้ผู้คนได้ทำกุศลแบบเปื้อนยิ้มด้วย นั่นคือ การโยนเหรียญเสี่ยงทาย ที่มีบาตรหมุน แต่ละบาตรมีป้ายโชคต่างๆ ระบุไว้ เช่น รวย มีลาภ เจริญสุข เป็น อยากได้โชคด้านใดก็โยนเหรียญให้เข้าบาตรนั้น แต่เท่าที่ดู ไม่ค่อยมีใครโยนลงบาตรที่หมายนัก ต้องเสี่ยงอยู่หลายรอบเหมือนกัน

ตรงทางขึ้นไปที่ฐานหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ มีภาพฝูงปลา เต่า และบัว มองผ่านก็คงเข้าใจได้ดีว่า เป็นปริศนาธรรม บัว 4 เหล่า การจะเห็นภาพชัดเจน ต้องขึ้นไปยืนมองจากด้านบน  ใครไปทางอยุธยา หรืออ่างทอง ลองแวะไปครับ รับรองได้รับความสุขทุกรส ทั้งธรรม ทั้งอาหาร ทั้งพักผ่อน


อ่านเรื่องอื่น ๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลั่นแกล้ง

You may also like...