ชายแดนใต้ ในสายตาคนพื้นที่ เรื่องเล่า 1 ตลาดปลาเคลื่อนที่

เรื่องเล่านี้ ผมตั้งใจเล่าเป็นตอน ๆ เท่าที่ประสบพบเจอในฐานะคนพื้นที่ ที่เตร่ไปเตร่มา กล่าวคือ เกิดและโตที่ ชายแดนใต้ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เรียน และทำงาน ที่ จ.นนทบุรี แม้จะบอกว่านนทบุรี แต่ก็หมายถึงกรุงเทพฯ นั่นแหละ ถึงอย่างไรแล้วผมก็ใช้ชีวิตทั้ง 2 ภูมิภาค

เรื่องเล่าเหล่านี้ ก้าวข้ามความขัดแย้ง การเมือง ไม่โต้เถียงใครมาก่อนมาหลัง ใครเป็นแขก ใครเป็นเจ้าบ้าน เพราะมิตรภาพ ความเป็นอยู่ ปากท้อง สำคัญไม่หย่อนกว่าประเด็นใด

ข้างต้นคือคำนำ เรื่องต่อไปนี้ คือ ชายแดนใต้ ในสายตาคนพื้นที่ เรื่องเล่าที่ 1 ตลาดปลาเคลื่อนที่

หากให้แยกกลุ่มชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ในสายตาผม ผมแยกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ มุสลิม พุทธดั้งเดิม และพุทธย้ายมาใหม่ ขยายความเฉพาะ 2 กลุ่ม คือ พุทธที่อยู่ในพื้นที่มาแต่เริ่มต้น กับพุทธที่ย้ายมาทำงาน คือ คนจากจังหวัดอื่นนั่นเอง… 2 กลุ่มนี้แตกต่างกันตรงที่ พุทธเดิมเข้าใจวิถีมุสลิม ส่วนพุทธย้ายมาใหม่ ไม่เข้าใจ ความขัดแย้งจึงเกิดบ่อย ๆ เช่น อาหารฮาลาล เป็นต้น

เข้าประเด็นตลาดปลาเคลื่อนที่ คือ ชุมชนชาวพุทธนั้น บ่อยครั้งที่ชาวมุสลิมจะนำปลามาขาย ปลาจากแม่น้ำสุไหง โก-ลก นั่นแหละ ดักข่ายบ้าง (ภาษาถิ่นเรียก บูกัด) ใช้กลยุทธ์ไม่ชอบธรรมบ้าง เช่น วางยา ฯลฯ อันนี้ก็แล้วแต่ แต่ปลาสดใหม่มาขายเสมอ ในทางกลับกันชาวพุทธ หากหาปลาได้ จะไม่ขายให้ชาวมุสลิม เพราะติดปัญหาเรื่องอาหารฮาลาล แม้ปลาจะอยู่นอกเหนือฮาลาล แต่หากเกิดความไม่สบายใจ ก็ไม่ทำ

จากเรื่องที่เล่ามา พรานปลาชาวมุสลิมเมื่อได้ปลามา ก็จะนำมาขายที่บ้านชาวพุทธก่อน ด้วยราคาที่ต่ำกว่าตลาด หากขายไม่หมด ก็จะไปฝากขายที่ร้านค้าชุมชนอีกที (ส่วนมากหมด)

ชาวพุทธเอง ก็จะคิดว่า ช่วงนี้หน้าปลา เดี๋ยว กะห์ เดี๋ยวเดะห์ (ภาษามลายู แปลว่า พี่สาว น้องสาว) คงเอาปลามาขาย บางวันแม่ของผู้เขียนนั่งรอจนเที่ยง ปรากฏว่าไม่มา ไม่เป็นไรพรุ่งนี้รอใหม่ ปรากฏว่า มา

จากวิถีนี้ ผู้เขียนจึงยืนยันว่า การซื้อขายอาหารไม่ได้มองเรื่องชนชั้น แต่มองเรื่องฮาลาล หรือความเข้าใจเป็นหลัก ลองชาวมุสลิมไม่ติด ชาวพุทธนั่นแหละจะพาไปขายเอง


อ่านเรื่องอื่น ๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลั่นแกล้ง

You may also like...