หูกวาง แอลมอนด์ริมชายหาด

รู้จักแอลมอนด์กันไหม? almond แอลมอนด์ หรืออัลมอนด์ เป็นไม้ยืนต้นในสกุล Prunus เรียกง่าย ๆ ว่า นัท หรือถั่ว เมล็ดรับประทานได้ แอลมอนด์นั้นถิ่นกำเนิดอยู่ในตะวันออกกลางและเอเชียใต้ แต่ในประเทศไทยก็มีพืชที่กินเมล็ดได้เหมือนแอลมอนด์หลายชนิด เช่น กระบก ที่ถูกยกให้เป็นแอลมอนด์อีสาน เพราะต้นไม้ชนิดนี้นิยมปลูกพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นำเมล็ดของมันมาคั่ว กินเพลินเลยล่ะ มองริมชายหาดก็จะมีแอลมอนด์ไทย ๆ เช่นกัน นั่นคือ หูกวาง

ภาพโดย Absandme จาก Pixabay

หูกวางแอลมอนด์ริมเล

หูกวางเป็นไม้ยืนต้น ถิ่นเกิดอยู่ในเขตร้อนของอนุทวีปอินเดีย, เอเชียอาคเนย์ ไปจนถึงภูมิภาคโอเชียเนียและหมู่เกาะฮาวาย มักขึ้นตามชายหาด ป่าชายหาดริมทะเล เพราะมันชอบดินร่วนปนทราย ถึงกระนั้นเราก็ยังสามารถพบเห็นต้นหูกวางได้ทุกพื้นที่ของไทย เพราะทรงมันสวย ให้ร่มเงาดี จึงนยมนำไปเป็นไม้ประดับ พูดถึงหูกวาง บางท่านอาจนึกถึงหูกระจง ที่ไม่ควรปลูกใกล้บ้าน (แฮ่) จริงแล้วหูกวางก็ไม่ควรปลูกใกล้บ้านนัก เพราะต้นใหญ่ ระบบรากใหญ่ อาจทำลายโครงสร้างสิ่งก่อสร้างได้ อีกทั้งใบก็ร่วงมาก

เมื่อเอ่ยถึงใบหูกวาง บางท่านอาจพอเห็นภาพ ใบไม้ที่ใช้สมานแผล และบำรุงปลากัด ครั้งที่มีนักเพาะเลี้ยงปลากัด ผสมพันธุ์ออกมาเป็นลายธงชาติไทยได้อยางสวยงาม ข่าววงการปลากัดก็แพร่หลาย เช่นกัน ใบต้นหูกวางก็เป็นที่รับรู้ว่ามีประโยชน์ต่อปลากัด ช่วงนั้นมีกระแสนิยมเลี้ยงปลากัดเพิ่มขึ้น และใบหูกวางแห้งก็เป็นที่ต้องการ แม้ต้องการแต่ไม่ใช่ทุกชุมชนมีต้นหูกวาง ฉะนั้นจึงมีนักค้าหัวใสนำใบแห้งของต้นหูกวางประกาศขายทางแอปพิลเคชั่นร้านค้ามากเจ้า ได้เงินมากหมายอยู่

ขึ้นหัวข้อ หูกวาง แอลมอนด์ริมเล แต่นำใบมาคั่นก่อน ย่อหน้านี้เข้าเรื่องเมล็ดหูกวางแล้วล่ะ เมล็ดหูกวางนั้นกินได้ สมัยเด็ก ๆ เรียนประถมต้น โรงเรียนผู้เขียนปลูกต้นหูกวางไว้หลายต้น ผู้เขียนมีโอกาสไปเที่ยวทางภาคอีสาน ได้กินเมล็ดกระบกคั่ว มองเห็นลูกหูกวางคล้าย ๆ กระบก จึงลองทุบออก ยิ่งเห็นเมล็ดในรูปทรงคล้ายกัน จึงหยิบใส่ปาก เออ! อร่อยแหะ เพื่อนเห็นการกระทำ รีบนำไปฟ้องครู ครูบอก “ไม่เป็นไรหรอก กินได้”

เมล็ดหูกวางกินอย่างไรจึงจะเหมาะ

ครั้งหนึ่งผู้เขียนมีโอกาสไปเกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต ได้พบชาวไทยใหม่ หรืออูรักลาโว้ย ยิปซีทะเล เห็นแม่เฒ่าท่านหนึ่งคั่วเมล็ดมะม่วงหิมพานต์อยู่ (นี่ก็นับเป็นแอลมอนด์เมืองไทยได้เช่นกัน) จึงแวะสอบถาม และถ่ายภาพ ส่วนรายละเอียดจะนำมาเขียนเล่าในบทความต่อไป

แม่เฒ่าว่า อยากให้ลองชิมเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ฝีมือแก ทว่ายังกินตอนนนี้ไม่ได้ กระนั้นแม่เฒ่าก็มีของมาให้ชิม นั่นคือ เมล็กหูกวางตากแห้ง ว่าแล้วก็เดินกระฉับกระเฉงไม่สมวัย ไปหยิบตระกร้าน้อย (อดีต) ขนมจีนยื่นให้ ในนั้นมีเมล็ดลูกหูกวางอยู่

“เม็ดหูกวางตากแห้ง” แม่เฒ่าว่า “ตากไว้ แล้วเอาไปขนม อร่อยมาก แต่กินแบบนี้ก็อร่อย”

ผู้เขียนได้ฟังแล้วหยิบเมล็ดหูกวางเข้าปาก 1 ชิ้นอย่างเกรงใจ อร่อย กรุบและกรอบ ดีกว่ากินดิบ ๆ นัก หากนำไปใส่ขนม เช่น เค้ก ไม่รู้ว่าจะอร่อยเพียงไร

เมื่ออร่อย แต่ด้วยความเกรงใจ จึงบอกแม่เฒ่าว่า “ขอบคุณครับ ผมขอชิมอีกสักสองสามชิ้นนะครับ”

แม่เฒ่าเอ่ย “โอ้ยยยยยย เอาไปทั้งหมดเลย”

แต่ผู้เขียนอิดออด แม่เฒ่าเลยเทใส่ให้กำมือหนึ่ง นั่นไง เข้าทาง

อ้อ! ลืมไป ลูกที่นำเมล็ดมากิน ควรเป็นลูกสุกสีส้มเป็นอย่างต่ำ

ประโยชน์ทางโภชนาการ

นอกจากเมล็ดอร่อย ต้นเป็นไม้ประดับ ใบแห้งบำรุงปลากัดแล้วแก่นไม้ยังใช้ทำสีย้อมผ้า และเกือบทุกส่วนของต้นสามารถใช้แก้ไข้ ยาระบาย ขับลม ยาสมาน ขับพยาธิ ขับเหงื่อ ถือเป็นสมุนไพรที่ดี แม้ไม่ควรปลูกใกล้บ้าน แต่ห่าง ๆ หน่อยก็ไม่เลว

ต้นไม้ประจำจังหวัดตราด ต้นไม้ประจำจังหวัดตราด นอกจากมีต้นกฤษณา หรือไม้หอมแล้ว ยังได้รับพระราชทานต้นหูกวาง เพื่อปลูกเป็นมงคล อีกด้วย

อ้างอิง

กระบก

อัลมอนด์

วิกิพีเดียหูกวาง

อุทยานหลวงราชพฤกษ์

ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดตราด

สัษลักษณ์ประจำจังหวัดตราด


อ่านเรื่องอื่น ๆ

หน้าแรก

เฟซบุ๊กแฟนเพจ กลั่นแกล้ง

ข้าวยำใบพันสมอ ข้าวยำ สูตรนราธิวาส

โรคหูดับ กินหมูดิบ แล้วหูหนวกจริงเหรอ

หอยแอเตาะ มรดกภูมิปัญญาอาหาร มลายู

You may also like...