จริงหรือที่ ดอกชบา เป็นดอกไม้แห่งการประจาน หญิงแพศยา และการประหาร

ดอกชบา เป็นดอกไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไทย เพราะปลูกง่าย ดอกมีหลายสี ให้สนุกกับการปลูก อีกทั้งการเสียบยอด ติดตา เพื่อให้หนึ่งต้นมีดอกหลายแบบก็ทำได้ง่ายดาย ทางประเทศมาเลเซีย ยกให้เป็นดอกไม้ประจำชาติ เรียกกันว่า บุหงารายา ซึ่งแปลว่า ราชินีดอกไม้ แต่ทางไทยเรา แม้ปลูกกันมากเช่นกัน ทว่าหลายคน ไม่ปลูกเอาซะเลย เพราะเชื่อว่า เป็นดอกไม้อัปงคล มากผัว และเป็นดอกไม้คล้องคอนักโทษประหาร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คลิปนี้ขลังอาถรรพ์จะพาไปพบคำตอบ และเฉลยว่า ดอกชบา เป็นดอกไม้อัปมงคงจริงหรือไม่ แต่ก่อนอื่น ขอคนละไลก์ คนละแชร์ พร้อมทั้งติดตาม กระดิ่งแจ้งเตือน เพื่อเป็นกำลังใจให้กันบ้างนะครับ

ภาพโดย luxstorm จาก Pixabay

ถิ่นเกิดดอกชบา

เชื่อกันว่า ชบามีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน อินเดีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น หมู่เกาะฮาวาย เป็นต้น

ความเกี่ยวพันกับพระแม่กาลี

เชื่อว่า ชบาเข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงสุโขทัย เป็นอย่างน้อย ซึ่งรับมาจากอินเดีย จึงรับความเชื่อของอินเดียเข้ามาด้วย โดยที่อินเดีย ใช้ดอกชบาแดงบูชาพระแม่กาลี

พระแม่กาลี คือ ปางหนึงของพระแม่ปารวตี หรือพระแม่อุมา พระชายาของพระศิวะ ซึ่งปางเจ้าแม่กาลีนี้ เป็นขั้วตรงข้ามของพระมาอุมา เพราะพระแม่อุมาใจดี แต่เจ้าแม่กาลี ชั่วร้าย เห็นได้ว่าในรูปของพระแม่กาลี มีมาลัยชบาคล้องคออยู่ด้วย

เกล็ดเล็กน้อยของพระแม่กาลี ปัจจุบันมีผู้นับถือมาก ในไทยเองก็แยะ เพราะเชื่อว่า พระแม่เป็นเทพที่จะกำจัดความชั่วร้ายให้ บูชาแล้วจำประสบแต่ความสำเร็จ โชคดี

นอกจากดอกชบาแดงถูกใช้เป็นเครื่องบูชาพระแม่กาลีแล้ว ที่อินเดียใต้ยังนำมาร้อย คล้องคอนักโทษประหารอีกด้วย นัยย์ก็คงเป็นการขอให้พระแม่กาลีช่วยจัดการประมาณนั้น

ภาพโดย Izabella Jasper จาก Pixabay

ความเชื่อในไทย

เมื่อคนไทย รับดอกชบามาจากอินเดีย ดอกชบาจึงเจือมากับความเชื่อของอินเดียด้วย ซ้ำยังนำมาปรับเข้ากับกฏหมายด้วย ดังปรากฏในกฎหมายตราสามดวง สมัยรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ทรงโปรดให้รวบรวมชำระ ขึ้นจากกฎหมาย สมัยกรุงศรีอยุธยามี ปรากฏการใช้ดอกชบาใน พระไอยการ ลักษณะผัวเมีย ใช้ดอกชบาในการประจาน “ผู้หญิงอันร้าย” หรือ “ผู้หญิงแพศยา” ตัวอย่างเช่น มาตรา ๖…”ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกชบาแดงทั้ง ๒ หู ร้อยดอกชบาแดงเป็นมาลัยใส่ศีรษะใส่คอ แล้ว ให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ชายชู้เทียมแอกข้างหนึ่ง ประจานด้วย ไถนา ๓ วัน…” หรือ มาตรา ๗ “หญิงใดทำชู้นอกใจผัว มันเอาชายชู้นั้นมาร่วมประเวณีในวันเดียวสองคนขึ้นไป ท่านว่าเป็นหญิงแพศยา…ให้เอาปูนเขียนหน้าหญิงร้ายนั้นเป็นตารางร้อยดอกชบาเป็นมาลัยใส่ศีรษะ ใส่คอ แล้วเอาขึ้นขาหย่างประจาน…” 

ในหนัง ในละครไทย เราจะเห็นดอกชบาแดงอยู่บ่อย ๆ เช่น เรื่องนางทาส มีฉากที่อีเย็นคล้องมาลัยชบาแดง เพราะถูกใส่ร้ายว่าคบชู้ หรือเรื่อง ไอ้ฟัก ที่ทำมาจากนวนิยาย คำพิพากษา ของ ชาติ กอบจิตติ สมทรง ก็ทัดดอกชบาแดงตลอด เช่นกัน เพราะเรื่องนี้ก็เกี่ยวพันกับความเป็นชู้

ปัจจุบันไทย ไม่มีความเชื่อว่า ดอกชบา เป็นดอกไม้อัปมงคลแล้ว ถึงจะมีบ้างก็กลุ่มน้อยเต็มทน ส่วนกฏหมายก็ยกเลิกไปนานแล้ว แต่แอดเคยได้ยินคำเตือนของญาติผู้ใหญ่บอกว่า ปลูกชบาไว้หน้าบ้านไม่เหมาะ เพราะจะทำให้ลูกสาวขึ้นคาน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ย้อนแย้งอยู่

ทางอินเดียมองชบาเป็นดอกไม้อัปมงคล ทว่าประเทศอื่นอีกหลายประเทศ กลับไม่มองอย่างนั้น ก็อย่างมาเลเซียนั่นสิ ใช้เป็นดอกไม้ประจำชาติเลยทีเดียว เพราะมองว่าดอกไม้ที่มีสีแดงสื่อถึงความอิสระ และยามที่ดอกชบาบานมีเพียงดอกเดียวจึงหมายถึงเอกภาพ

ยิ่งชาวเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ฮาวาย ตาฮิติ เป็นต้น ชบา ได้รับความนิยมมาก  สาวๆ ชาวเกาะในชุดแต่งกายพื้นเมือง ต้องมีดอกชบาทัดหูหรือแซมผมเสมอ

ภาพโดย Silke จาก Pixabay

สุดท้ายก็คือความงาม

หากวางเรื่องความเชื่อลง ดอกชบาถือเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ตำราประมวลสรรพคุณยาไทย และสรรพคุณสมุนไพร กล่าวถึงเฉพาะการใช้รากชบากำหนดให้ใช้พันธุ์ดอกขาวหรือแดง ให้ใช้รากสดๆ ตำให้ละเอียดใช้พอกฝี แก้ฟกบวม ถอนพิษร้อน หากนำไปต้มดื่มช่วยขับน้ำย่อย ทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น ชาวโอรังอัสลีในรัฐเปรัก มาเลเซีย ใช้เปลือกรากแช่ในน้ำข้ามคืน แล้วดื่มขณะท้องว่าง เพื่อรักษาฝี

นอกจากสรรพคุณทางยา ดอกชบา สามารถย้อมสีได้ อดีตเคยใช้ย้อม ผม ย้อมขนตา และทารองเท้า ฝรั่งจึงเรียกชบาว่า shoe flower นี่คือ เรื่องราวของดอกชบา ที่มีทั้งเชื่อว่าเป็นส่วนชั่วร้าย และฝ่ายดี ทั้งนี้ทั้งนั้นยุคสมัยคลี่คลายความเชื่อด้วยวิทยาศาสตร์ไปมากแล้ว แต่รู้ไว้ก็ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม ท้ายนี้ อย่าลืมไลก์ แชร์ หรือคอมเม้นต์แนะนำกันนะครับ เพื่อจะได้พัฒนาเนื้อหาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ขอบคุณครับ


ย้อนกลับหน้าแรก
แฟนเพจ กลั่นแกล้ง

You may also like...