ความทะลึ่งใน เหล็กขูด มะพร้าว ของชาวใต้

กะทิ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ของการทำอาหารทั้งคาวและหวานของชาวใต้ ฉะนั้นทุกบ้านจึงต้องมีที่ขูดมะพร้าวประจำบ้าน ที่ขูดมะพร้าว ภาคใต้เรียก เหล็กขูด เพราะมองตามอุปกรณ์ คือ นำเหล็กอันมีซี่แหลม ๆ มาขูดมะพร้าว ส่วนภาคกลางเรียก กระต่ายขูดมะพร้าว เพราะมองว่าเหล็กคล้ายฟันกระต่าย และม้านั่งก็เหมือนตัวกระต่าย ส่วนภาคเหนือรู้จักกันในนาม แมวขูดมะพร้าว

พัฒนาการของเหล็กขูด

ปัจจุบัน หากต้องการกะทิมาทำแกง หรือขนมหวาน เราคงเดินตรงไปยังร้านค้า เลือกกะทิกล่องตามขนาดซื้อมาใช้ ทว่าแต่ก่อนนั้น ไม่มีกะทิกล่องขาย จึงต้องเดินไปยังต้นมะพร้าว เก็บลูกแก่ ๆ มาปอกเปลือก หลังจากนั้นผ่าออกเป็นสองฝา แล้วนำช้อนที่ทำจากกะลามะพร้าวมาขูดเนื้อมะพร้าวออก เสร็จแล้ว นำมาคั้นมาบีบ ให้ได้กะทิออกมา

จากช้อนกะลาธรรมดา ได้พัฒนาผ่าเป็นซี่แหลม ๆ ให้ขูดเนื้อมะพร้าวได้ง่ายขึ้น และจากที่ใช้กะลาอย่างเดียว ก็มีคนหยิบไม้อื่น ๆ มาใช้ เช่น ไม้ไผ่ เป็นต้น จึงเรียกว่า ไม้ขูด กาลผ่านนวัตกรรมไม้ขูดมะพร้าว กลายเป็นเหล็ก จึงเรียก เหล็กขูด และไม่ต้องใช้มือจับขูดแล้ว เพราะเหล็กนั้นนำมาตอกใส่ม้านั่ง ที่ออกแบบให้มีคอยาวยื่นออกมา จึงทำให้ขูดมะพร้าวมาคั้นกะทิได้ง่ายขึ้น

ลงแขกขูดมะพร้าว

ด้วยทุกบ้านมีเหล็กขูด ฉะนั้นเมื่อมีงานที่ต้องเลี้ยงแขกจำนวนมาก อย่างง่านแต่ง งานบวช งานศพ ชาวบ้านก็จะอุ้มเหล็กขูดของตัวเองไปช่วยขูดมะพร้าว เป็นภาพการร่วมแรงร่วมใจอย่างเห็นได้ยากในสมัยปัจจุบัน

ศิลปะบนม้านั่งเหล็กขูด

เหล็กขูดมีม้านั่ง เพื่อนั่งขูดมะพร้าวได้สะดวก นี่แหละจึงเกิดไอเดียสร้างสรรค์ขึ้นมา เพราะการจะนำไม้แผ่นทื่อ ๆ มาประกอบเป็นตัว เป็นขา เป็นคอ แล้วตอกเหล็กขูดเข้าไป มันดูจืดชืดเกินไป บ้านไหนพ่อบ้านมีฝีมือช่าง หรือแกะสลัก ก็จะออกแบบม้านั่งให้เป็นรูปสัตว์ รูปคน หรือตามแต่จินตนาการออกมา ศิลปะบนม้านั่งเหล็กขูด จึงเป็นอีกความบันเทิงหนึ่งของงาน ลองนึกดูสิ นายดำอุ้มเหล็กขูดลายพญานาค นายขาวอุ้มเหล็กขูดลายหมูป่า นายเขียวอุ้มลายนางเงือก แหม่! สนุกสนาน ฮือฮา ทำงานไปคุยไป ลืมเหนื่อยเลย

ความทะลึ่งบนเหล็กขูด

เพราะม้านั่งเหล็กขูดมีช่าง หรือพ่อบ้านฝีมือดี สร้างสรรค์ลวดลายวิจิตรแล้ว ย่อมมีพ่อบ้านอารมณ์ขัน อารมณ์ทะลึ่งเช่นเดียวกัน ฉะนั้นเหล็กขูดรูปลวดลายอวัยวะเพศ รูปทะลึ่ง จึงกำเนิดขึ้นมา ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของวิถีชาวบ้านภาคใต้

นอกจากนี้กระต่ายขูดมะพร้าว ยังเป็นเครื่องแสดงถึงความขยันของพ่อบ้านอีกด้วย เพราะสมัยโบราณทุกอย่างต้องทำเอง บ้านไหนสามีขี้เกียจ ม้านั่งเหล็กขูดย่อมเป็นไม้เรียบ ๆ ทื่อ ๆ บ้านไหนขยัน มีความคิดสร้างสรรค์ก็จะออกแบบมาอย่างสวยงาม แต่ถ้าทั้งขยัน ทั้งมีฝีมือช่าง ทั้งทะลึ่ง ก็ได้ลวดลายอย่างที่บอกนั่นแหละ

นอกจากมีนิสัยเจ้าของแล้ว ยังมีลักษณะภูมิประเทศเป็นส่วนประกอบด้วย คือ ชุมชนใกล้ทะเล เน้นลวดลายสีสันฉูดฉาด  ชุมชนเขตเมือง มีรูปทรงสวยงาม พิถีพิถัน เพราะมีเครื่องมือมาก มีช่างศิลป์ที่หลากหลาย ชุมชนเขตภูเขา ขาดเครื่องไม้เครื่องมือ ลวดลายก็ดูไม่ซับซ้อน เป็นต้น

เหล็กขูดกับคำเปรียบเทียบ

เพราะอดีตมีกันทุกบ้าน เหล็กขูดจึงถูกนำมาเปรียบเทียบกับนิสัยคน เนื่องจากเหล็กขูดมีลักษณะโค้ง ฉะนั้นหากใครมีอาการงอน หน้าบูด หน้างอ ก็จะถูกตำหนิเปรียบเทียบว่า “หน้าเหมือนเหล็กขูด” นั่นเอง และนี่ก็คืออารมณ์ขันแนวทะลึ่งที่มากับเหล็กขูด และวิถีชุมชน ภาพที่นำมาประกอบให้ชมกัน ถ่ายมาจาก สถาบันทักษิณคดีศึกษา ซึ่งทางสถาบันก็เน้นย้ำว่า การจัดแสดงเหล็กขูดที่มีลวดลายหลากหลายทั้งวิจิตร และลามกนั้น ก็เพื่อให้เราได้ชม ได้พิจารณาถึงงานศิลปะ และวิถีชุมชนในหลายมิตินั่นเอง


ขอบคุณข้อมูล

https://entertainment.trueid.net/detail/Z1o8Rv975WGE
http://www.m-culture.in.th/album/view/135297/
https://www2.m-culture.go.th/songkhla/ewt_news.php?nid=303&filename=index
https://books.classstart.org/ภาษิต-สำนวนไทย-๔-ภาค/สำนวนไทยภาคใต้/หน้าเหมือนเหล็กขูด.html

อย่าลืมบทความอื่น ๆ ของเรา

multitale.com

You may also like...