ระแวง แกงพะแนง หรือเขียวหวาน
หลังจากได้ข่าวว่า แกงพะแนง ได้รับการจัดอันดับจากเว็บไซต์ Taste Atlas ให้ติดอันดับ 1 ของอาหารประเภทสตูว์ที่มีรสชาติดีที่สุดในโลก ผมก็นึกถึงแกงลูกครึ่งก้ำกึ่งระหว่างพะแนง เขียวหวาน และเรนดัง (Rendang) ของอินโดนีเซีย โดยทันที
จำได้ว่านานมาแล้ว มีโอกาสกินอาหาร ณ ร้านแถวช่างชุ่ย ด้วยไอ้เราไม่ค่อยถนัดเรื่องอาหารการกินเท่าไหร่ (จึงเป็นที่มาของการจำเมนูต่าง ๆ ตามวาระต่าง ๆ ได้ดี) จึงมอบหน้าที่นี้ให้เพื่อน เพื่อนสั่งแกงชื่อชวนติดหูมาอย่างหนึ่งนั่นคือ “แกงระแวงเนื้อ” ไอ้เราด้วยไม่เคยได้ยิน ไม่รู้จัก จึงนั่งรอชมด้วยใจจดจ่อ
เมื่อมาถึง จึงเห็นหน้าตาของมัน ลักษณะคล้ายแกงเขียวหวานเนื้อ พิเศษตรงที่มีตะไคร้หั่นยาว กับใบมะกรูดซอยอยู่ด้วย ส่วนรสคล้าย แกงพะแนง ครั้นเมื่อชิมแล้ว ส่วนตัวผมรู้สึกว่าแตะ ๆ แกงไตปลาอยู่เล็กน้อย โดยรวมอร่อยถูกใจเลยทีเดียว
แม่ครัวบอกว่า แกงระแวง เป็นอาหารโบราณชนิดหนึ่ง ปัจจุบันค่อนข้างหากินยากเพราะไม่ค่อยมีใครทำ บ้างก็ว่าเป็นอาหารชวา อินโดนีเซีย
“อ้อ ถึงว่าทำไมเรียกว่าแกงระแวง ระแวงว่าจะเป็นอะไรนี่เอง” ผมพูดออกมา ซึ่งเมื่อกลับมาค้นข้อมูลที่พอจะหาได้ตามอินเตอร์เน็ต ก็เป็นลักษณะอย่างที่ตัวเองพูดติดตลกจริง ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อบทความว่า ระแวงแกงพะแนงหรือเขียวหวาน นั่นเอง
ตามข้อมูลระบุว่า แกงลูกผสมนี้ เป็นแกงโบราณ ว่ากันว่ามีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี (ในหนังเรื่องบุพเพสันนิวาส ภาค 2 ก็มีฉากทำแกงชนิดนี้อยู่) หน้าตาของมันคล้ายพะแนง แต่ใช้พริกแกงเขียวหวานที่เติมขมิ้นมาเป็นเครื่องแกง สีของน้ำแกงจึงเป็นเหลืองทอง ออกแนวแกงกะหรี่ไป ด้านเนื้อสัมผัสมีความข้นกว่าแกงเขียวหวาน น้ำขลุกขลิกกึ่งแกงกึ่งเผ็ด มีความคล้ายแกงของมลายูอยู่ไม่น้อย
บ้างก็ว่าเป็นแกงที่ได้รับอิทธิพลจากชวา (แกงเรนดัง) และคาดว่าเข้ามาในไทยสมัย ร.5 เมื่อครั้นเสด็จประพาสชวา
แกงระแวงนั้น เหมาะกับการกินพร้อมข้าวสวยร้อน ๆ ยิ่งกินกันหลายคนพร้อมหน้า แล้วถกกันว่ามันคือแกงอะไรกันแน่ ยิ่งสนุก แต่อย่าสนุกจนเกินงาม เลยเถิดเป็นมีปากมีเสียงเสียล่ะ เดี๋ยวจะทะเลาะเปาะแว้งกัน อาหารรสกร่อยไป